หลังจากที่จีนเพิ่งลงดาบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาไม่ทันไร หนังสือพิมพ์ Economic Information Daily สื่อในเครือของสำนักข่าวซินหัว Xinhua ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ก็เขียนโจมตีวิดีโอเกมว่าเป็น “ฝิ่นมอมเมาจิตวิญญาณ” ที่เป็นอันตรายกับเยาวชนของประเทศ เป็นการส่งสัญญาณควบคุมการขยายตัวของธุรกิจที่มอมเมาเยาวชน สืบเนื่องจากสั่งห้ามและออกกฎคุมเข้มธุรกิจติวเตอร์ไปก่อนหน้านี้่ ยังไม่ทันประกาศกฎเหล็กก็ทำหุ้นเทนเซ้นท์ (Tencent)ดิ่งพร้อมฉุดกลุ่มผลิตเกมส์ทั้งในและต่างประเทศในตลาดร่วงไปด้วย ต่อมาซินหัวต้องลบบทความนี้ออกไป เนื่องจากเกิดผลกระทบกับตลาดหุ้นหนักกว่าที่คาดไว้
วันที่ 4 ส.ค.2564 นสพ.Economic Information Daily กล่าวโทษเฉพาะเกม Honour of Kings ของ Tencent บริษัทเจ้าของ TikTok และเกมรายใหญ่ที่สุดของจีนว่าเป็นต้นตอของปัญหา ที่ทำให้เยาวชนสายตาสั้น และผลการเรียนตกต่ำเพราะหมกมุ่นกับเกมมากเกินไป โดยอ้างการสอบถามความคิดเห็นนักเรียนราว 2,000 คน ที่บางคนบอกว่าเล่นเกมวันละ 8 ชั่วโมง และยังเรียกร้องให้ทางการเข้ามาควบคุมธุรกิจนี้ด้วย
แค่มีบทความเผยแพร่นี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าทางการจีนจะเข้ามาจัดการกับธุรกิจเกมออนไลน์เป็นรายต่อไป ส่งผลให้หุ้นของทั้ง Tencent และคู่แข่งอย่าง NetEase และ XD ดิ่งกว่า 11% ในช่วงเช้าวันนี้ (3 ส.ค.) และสำหรับ Tencent ขณะนี้มูลค่าของบริษัทหายไปแล้วกว่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17% นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วที่จีนเริ่มปราบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทลงทุนอยู่ด้วย
นอกจากนี้บริษัทเกมสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังพลอยถูกหางเลขไปด้วย โดยหุ้นของ Nexon จากเกาหลีใต้ซึ่งทำรายได้ในตลาดจีนราว 28% ร่วงถึง 10% ซึ่งร่วงหนักที่สุดครั้งแรกของบริษัทนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2020
หลังจากนี้บรรดานักลงทุนคงจะต้องคิดหนักหากคิดจะลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนร้ายรัฐบาลจีนจะเอื้อมมือลงมาบีบธุรกิจอะไรอีกต่อจาก Alibaba กับ Ant Group ของแจ็ก หม่า และ Meituan กับ Didi ของ Tencent และก็ถึงคิวเกมออนไลน์ของ Tencent อีก
จากเหตุการณ์นี้ เค่อหยวน(Ke Yan) นักวิเคราะห์จาก DZT Research ในสิงคโปร์ถึงกับเอ่ยปากว่า “คุณประมาทบทความที่เผยแพร่จากซินหัวไม่ได้เลย การเลือกใช้คำว่า ฝิ่นทางจิตวิญญาณ (Spiritual Opium) รุนแรงมาก คงจะแปลกใจมากถ้าหน่วยงานกำกับดูแลจะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้”
รายงานเปิดเผยว่า การเสพติดเกมออนไลน์ส่งผลเสีย 2 ต่อทั้งด้านสรีรวิทยาและจิตวิทยาของวัยรุ่น โดยชี้ให้เห็นว่ามากกว่าครึ่งของเด็กและวัยรุ่นในประเทศประสบปัญหาสายตาสั้นในปี 2020 ในขณะที่มีแนวโน้มว่าการเสพติดเกมออนไลน์ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนและนำไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพผิดปกติ
รายงานระบุว่า จากการสำรวจที่ดำเนินการในโรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในเมืองลูโจว มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เกี่ยวกับการเสพติดเกมออนไลน์ของนักเรียน พบว่าประมาณ 26.23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม 2,000 คนเล่นเกมออนไลน์ทุกสองหรือสามวัน ในขณะที่นักเรียนร้อยละ 11.66 เล่นแทบทุกวัน
เกมยอดนิยม ‘Honor of Kings’ พัฒนาโดย Tencent เป็นเกมอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักเรียนเหล่านี้ โดย 47.59% ของผู้ตอบแบบสอบถามเล่นเกมนี้บ่อย
ด้าน Tencent ชิงจัดการกับตัวเองให้เรียบร้อยก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาจัดการซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากให้บริษัทมากกว่า ด้วยการออกแถลงการณ์ผ่านบัญชี WeChat ทันทีว่า จะแบนไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีจ่ายเงินซื้อของในเกม และจำกัดเวลาเล่นเกมเด็กที่อายุต่ำกว่ากำหนดจากวันละ 1.5 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมงในวันหยุด ลงมาเหลือวันละ 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมงในวันหยุด
นอกจากนี้ Tencent จะเปิดใช้ระบบยืนยันตัวตนผู้เล่นตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนแอบใช้เลขประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองเข้าเล่นเกม และยังเสนอให้แบนผู้เล่นที่อายุต่ำกว่า 12 ปีจากทุกเกมด้วย
สื่อจีนบางแห่งบอกตรงๆเลยว่าเกมมิ่งคือ “ยาเสพติด” การบอกแบบนี้มีนัยทางการเมืองด้วยเท่ากับปิดประตูธุรกิจหมื่นล้านในจีน คนในอาจจะยังกอบโกยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนคนนอกนั้นยากแล้วที่หวังจะเจาะตลาดเกมมิ่งในจีน
มันสะท้อนว่ารัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะกลับไปใช้ “ค่านิยมสังคมนิยม” อย่างเคร่งครัดขึ้นเพื่อไม่ปล่อยให้สังคมโน้มเอียงไปทางทุนนิยมมากเกินไป และไม่เสียดายที่จะ “ทำลายนายทุน” คือบริษัทใหญ่ๆ แห่งแล้วแห่งเล่า นั่นหมายถึง “เงินไม่สำคัญเท่าอุดมการณ์และการรักชาติ”