เปิดตัวเลขล่าสุด ค่าดัชนีเชื่อมั่นนักธุรกิจ ฟื้นตัวต่อเนื่อง ห่วงหนักม็อบการเมืองทำปท.ถดถอยอีก

2307

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงที่กำลังมีการปลุกระดม สร้างความขัดแย้งรอบใหม่ ด้วยข้ออ้างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ ณ ขณะนี้ดูเหมือนว่าเป้าหมายของการเคลื่อนไหว จะไม่ใช่เป็นประเด็นทางการเมืองทั่วไปเหมือนเหตุการณ์ในอดีต อีกมุมหนึ่งทางเศรษฐกิจ

ล่าสุดนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI จากการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ และหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 364 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนส.ค. 2563 เห็นได้ชัดเจนว่าจะเป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสมาก ถ้าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น ทำให้ประเทศเกิดสภาวะความวุ่นวาย

โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือน ส.ค. 2563 พบว่าอยู่ที่ระดับ 32.6 หรือเป็นเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค .2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.8 จากปัจจัยบวกสำคัญ ๆ อาทิ 1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี 2.รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 เพื่อให้ธุรกิจต่างๆที่ปิดไปชั่วคราวได้กลับมาเปิดกิจการได้ และประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ และ 3.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง 30 สตางค์/ลิตร

อย่างไรก็ตามในภาพรวมที่ดีขึ้น ก็ยังมีปัจจัยลบ ประกอบด้วย อาทิ 1.ข้อมูลสภาพัฒน์ แสดง GDP ไตรมาส 2/63 หดตัว -12.2% จากผลของการส่งออกและการบริการที่ลดลง รวมทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงเช่นกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

2.ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม และ 3.ความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต

ทางด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ไปแตะที่ระดับ 32.6

เนื่องมาจากการคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ที่ร้อยละ 0.5 รวมถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ของรัฐบาล และการที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ เริ่มมีความกังวลในปัจจัยลบต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีการชุมนุมเกิดขึ้น หากยืดเยื้อจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆชะลอตัวลงอีก อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของการว่างงานมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งการส่งออกที่ยังทรุดตัวจากการค้าโลก ,การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงรุนแรงอาทิ ในเมียนมา ซึ่งจะมีผลต่อการค้าชายแดน ทำให้ภาพรวมของความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงได้ โดยภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะในวันธรรมดา แต่จะต้องออกมาตรการที่รัดกุมเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19

 


ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนอไปถึงภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไข ปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด ประกอบด้วยดังนี้

1.รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการจัดสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงวันธรรมดา

2.ส่งเสริมให้เกิดการหยุดยาว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเพื่อการลดหย่อนภาษี

3.ออกมาตรการที่รัดกุมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวจากต่างชาติ โดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี

4.ส่งเสริมให้เกิดการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น เช่น การขนส่งสินค้าระหว่างกัน

5.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย และสร้างงานในพื้นที่

6.จัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับเกษตร และการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

7.สร้างความเชื่อมั่นภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนกับประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เคยสรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค ประจำเดือน ส.ค. 2563 เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยพบว่าค่าดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเป็นคร้ังแรกในรอบ 18 เดือน

โดยดัชนีปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ในระดับ 32.5 เทียบกับระดับที่ 28.3 ในเดือนกรกฎาคม

โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับดี (มีเสถียรภาพ) ปานกลางและแย่(ขาดเสถียรภาพ) ประมาณ 2.1% , 28.3% และ 69.6% ตามลำดับ เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับดี(มีเสถียรภาพ) ปานกลาง และแย่ (ขาดเสถียรภาพ) ประมาณ 1.5% , 25.3% และ 73.2% ตามลำดับ

สำหรับการคาดหวังในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 3 เดือนข้างหน้าน้ัน กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตยังมีเสถียรภาพดี โดยเห็นว่าในอนาคตสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับดี (มีปัญหาน้อย) ปานกลาง และแย่ (มีปัญหามาก) ประมาณ 3.4% , 31.3% และ 65.3% ตามลำดับ และการที่ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตปรับตัวห่างจากระดับ 100 มากขึ้น แสดงว่าในมุมมองของผู้บริโภคเห็นว่าสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพในอนาคต