อาเซียนส่อแววร้าว?!? ฟิลิปปินส์ประสานประโยชน์จีน ขณะญี่ปุ่นจับมือเวียดนาม-อินโดนิเซียต้าน

3629

ทะเลจีนใต้นับเป็น ‘จุดร้อน’ ที่ล่อแหลมต่อการกลายเป็นชนวนของความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงเป็นสงครามชิงพื้นที่ด้วยกำลังอาวุธไปแล้ว เพราะพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้คือเส้นทางการเดินเรือสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและมีผลประโยชน์การค้าผ่านไปมาเฉลี่ยแต่ละปีมากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเส้นทางเดินเรือที่มีนัยสำคัญในทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศ วันนี้ไม่อาจซ่อนความไม่ลงรอยเรื่องผลประโยชน์ในหมู่มิตรประเทศรอบพื้นที่พิพาท โดยมีสหรัฐ-จีนผงาดอยู่เบื้องหน้า ใครยุแหย่แบ่งแยก-ใครประสานประโยชน์

ที่ผ่านมามีความพยายามเจรจาแบบ ทวิภาคีระหว่างคู่ขัดแย้งจีนกับประเทศรอบๆพื้นที่พิพาท และราบรื่นมาโดยตลอด แต่สหรัฐได้ก้าวเข้ามาแทรกในความอ่อนไหวนี้ทั้งทางการทูตและการทหารอย่างเปิดเผยตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิคต้านอิทธิพลจีนอย่างเข้มข้น เมื่อไทยแสดงจุดยืนและการปฏิบัติเปิดรับทั้งสหรัฐและจีน ไม่เลือกข้าง จึงโดนกดดันมาเป็นระยะและแตกหักเป็นม๊อบป่วนเมืองทุบเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ จับตาดูปัญหาความมั่นคงทางทะเล ที่คืบคลานเข้ามาใกล้บ้านเราอย่าได้กระพริบตา!

ทำไมต้องแย่งพื้นที่ในทะเลจีนใต้

-มีความสำคัญยิ่งทางด้านยุทธศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ
-ทะเลจีนใต้ (South China Sea) นั้นเป็นทะเลปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่กินทั้งประเทศสิงคโปร์ถึงช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งอ่าวตังเกี๋ยและอ่าวไทย มีเนื้อที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร มีเกาะเล็ก ๆ อยู่ประมาณ 200 เกาะ ในแนวหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) และหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands)
-การขนส่งน้ำมัน สินค้าต่าง ๆ มายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องผ่านทางช่องแคบมะละกาต่อไปยังพื้นที่ส่วนอื่นของทะเลจีนใต้ ก่อนจะขนส่งต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

-‘ทะเลจีนใต้’เป็นเส้นทางการจราจรทางทะเลที่คับคั่งมาก มีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ใช้เส้นทางทะเลจีนใต้ จัดเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือที่สำคัญ
-ทะเลจีนใต้ อยู่ทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน อยู่ทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักของมาเลเซีย และบรูไน อยู่ทางเหนือของอินโดนีเซีย อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ และอยู่ทางตะวันออกของเวียดนาม จึงมีหลายประเทศหมายปองพื้นที่ทองคำบริเวณนี้
-มีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลใต้ท้องทะเล

ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย-ตาอยู่เสี้ยมไม่หยุด

เมื่อบทบาทของจีนแข็งกร้าวขึ้นในพื้นที่พิพาทหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์  สร้างความไม่พอใจแก่ประเทศที่อยู่รอบๆพื้นที่ ไม่ว่าฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, บรูไน, เวียดนาม แม้การประชุมอาเซียนเมื่อไม่นานมานี้ ได้ประกาศเห็นร่วมกันยืนหยัดเป็นกลาง ในความขัดแย้งของมหาอำนาจสหรัฐและจีน แต่เมื่อชูประเด็นเรื่องผลประโยชน์ ด้านทรัพยากรและความมั่นคง จากที่เป็นปึกแผ่นเริ่มเห็นรอยปริร้าว สหรัฐอาศัยจุดเปราะบางนี้ถ่างความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ส่อเค้าลางความขัดแย้งที่จะมาพร้อมกับการใช้กำลังทางทหาร  เพราะพันธมิตรแน่นแฟ้นของสหรัฐกลุ่มพันธมิตรQUAD คือญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เดินสายเตรียมการต้านจีนอย่างออกหน้าออกตา ล่าสุดฟิลิปปินส์เลือกประสานประโยชน์กับจีน ทำสหรัฐเดือด, แต่ญี่ปุ่นกระชับมือกับเวียดนามและอินโดนีเซียต้านจีนอย่างเปิดเผย เน้นแลกเปลี่ยนทางทหารเต็มรูปแบบ

ฟิลิปปินส์เลือกจีน-บรรลุข้อตกลงสำราจน้ำมัน

สนข.Philstar รายงานจากถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีนว่า จีนและฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงในการร่วมกันสำรวจทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะจัดตั้งกลไกที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาและดำเนินความร่วมมือดังกล่าว 

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของจีนมีขึ้นหลังจากนายทิโอโดโร ลอกซิน รมว.กต.ฟิลิปปินส์ เยือนจีนเมื่อ 10 ต.ค.2563 เพื่อหารือกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.การต่างประเทศจีน เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดตั้งช่องทางด่วน (Fast Lane) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง จนท.ทั้ง 2 ฝ่าย และการติดต่อธุรกิจ ทั้งในด้านการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต การขนส่ง และการให้บริการทางเทคนิค

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมืองของสิงคโปร์ กล่าวว่า “การเริ่มต้นเจรจาใหม่ของจีน-ฟิลิปปินส์จะเป็นตัวอย่างให้แก่ภูมิภาค จีนและฟิลิปปินส์สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่น ๆเพื่อร่วมกันสำรวจทรัพยากรเหล่านี้ได้” 

เศรษฐกิจไม่ดี-ทบทวนเดินหน้าสัมปทานสำรวจ

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ต.ค.2563  รัฐมนตรีพลังงานของฟิลิปปินส์ อัลฟองโซ คูซี แถลงผ่านออนไลน์ว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ให้ความเห็นชอบข้อเสนอของทางกระทรวงที่จะยกเลิกการพักการสำรวจน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้แล้ว ทางกระทรวงพลังงานได้แจ้งไปยังบริษัทต่างๆ ที่ได้รับสัญญาสัมปทานในแปลงสำรวจ 3 แห่งนอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ขอให้กลับเข้าพื้นที่เพื่อเดินหน้าสำรวจต่อไป 

แปลงสำรวจเหล่านี้อยู่ในน่านน้ำที่พิพาทกับจีนและประเทศอื่นๆรอบๆทะเลจีนใต้

-เมื่อปี 2011 จีนส่งส่งเรือลาดตระเวนเข้าไปก่อกวนขับไล่แท่นเจาะสำรวจเหล่านั้น โดยเฉพาะในเขตที่มีชื่อเรียกว่า รีดแบงค์ (Reed Bank) ซึ่งประเมินกันว่าอุดมด้วยน้ำมันและก๊าซ ปฏิบัติการของเรือจีนทำให้ฟิลิปปินส์ส่งเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังจุดเผชิญหน้า แต่เมื่อไปถึง เรือจีนได้ผละไปแล้ว 

 

-ต่อมาปี 2012 เรือจีนกับเรือฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดในพื้นที่พิพาทอีกจุด ห่างจากรีดแบงค์ขึ้นไปทางเหนือ จุดที่เกิดการคุมเชิงนี้เรียกว่า สันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) คราวนี้เรือจีนบุกยึดสันดอนปะการังดังกล่าว
-เมื่อปี 2013 ฟิลิปปินส์จึงฟ้องร้องจีนต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายใต้สหประชาชาติผลไม่ยอมรับคำชี้แจงของจีนที่ว่า เป็นของจีนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ในอดีต แต่จีนไม่ยอมรับ เจรจาทวิภาคีกับฟิลิปปินส์แล้วทำให้ฟิลิปปินส์หยุดสำรวจตลอดมา

‘พัฒนาร่วมกัน’ คือทางออก

หลายประเทศที่มีข้อพิพาทเขตแดนทางทะเล เลือกที่จะประสานความร่วมมือแทนการขัดแย้งแย่งชิง ด้วยการกำหนดให้พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเป็น ‘พื้นที่พัฒนาร่วมกัน’ ต้นแบบเช่นนี้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ เพราะผ่านการเจรจาจนบรรลุข้อตกลง มีกฎกติกาเกี่ยวกับการจัดสรรผลประโยชน์ และการระงับข้อพิพาท เป็นเครื่องกำกับพฤติกรรมของแต่ละฝ่าย

คูซีบอกว่า การเดินหน้าสำรวจจะไม่กระทบต่อบันทึกความเข้าใจระหว่างมะนิลากับปักกิ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการพัฒนาร่วมกันในน่านน้ำพิพาท

รัฐบาลฟิลิปปินส์โดยนายอัลฟองโซ คูซี รัฐมนตรีพลังงาน แถลงระบุรัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังหาทางออกเดินหน้าโครงการเจาะสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ใกล้ดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้ด้านตะวันตกของประเทศ ซึ่งฟิลิปปินส์ยังมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับหลายประเทศอาเซียนด้วย อันได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ การเริ่มกระบวนการเจรจากับจีน จะนำไปสู่การตกลงกันได้อย่างสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ร่วมกันสำรวจและพัฒนาแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติดังกล่าว นายคูชี แถลงเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน แต่ยังไม่ได้หารือกับเหล่ารัฐมนตรีของหลายประเทศที่มีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนต่อกัน 

ข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อสัมปทานสำรวจ

แผนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอเสนอเรื่องถึงประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ ผู้นำฟิลิปปินส์ ให้ลงนามอนุมัติเร็วๆ นี้คือ-รัฐบาลฟิลิปปินส์โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ Philippine National Oil Company — PNOC จะร่วมมือกับบริษัทน้ำมันของจีน หรือ CNOOC กับบริษัทน้ำมันเอกชนของแคนาดา Mitra Energy Ltd. สำรวจขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทะเลจีนใต้เบื้องต้นก่อน 2 แหล่ง โดยโครงการนี้ให้จีนถือครองหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์ 28 เปอร์เซ็นต์ และแคนาดา 21 เปอร์เซ็นต์

ญี่ปุ่นเยือนเวียดนาม-อินโดฯร่วมพันธมิตรต้านจีน

นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในประเด็นระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเด็นทะเลจีนใต้ และต่อด้วยประเทศอินโดนิเซียในช่วงเวลาเดียวกัน

นายซูกะ กล่าวหลังประชุมร่วมกับนายกฯเวียดนาม โดยระบุว่าเวียดนามเป็นเสาหลักของความพยายามในการพัฒนาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง พร้อมสัญญาว่าญี่ปุ่นจะเดินหน้าสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง การเดินทางเยือนเวียดนามเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นและเวียดนามเห็นชอบในหลักการว่าด้วยสนธิสัญญาทางทหารที่จะเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกอุปกรณ์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศให้แก่เวียดนามได้ ซึ่งรวมถึง เครื่องบินลาดตระเวน และ ระบบเรดาร์ โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการเฝ้าระวังของเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งจีนกำลังสร้างกองทัพขึ้นบนเกาะเทียม

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องเรื่องการกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินตามปกติระหว่างสองประเทศ และการเปิดช่องทางพิเศษสำหรับให้นักธุรกิจและแรงงานทักษะสูงสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ขณะเดียวกัน ผู้นำทั้งสองประเทศยังยืนยันความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวกับเกาเหลีเหนือ โดยเวียดนามจะให้การสนับสนุนญี่ปุ่นในภารกิจนำชาวญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไปในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 กลับสู่ประเทศ

ทั้งนี้ นายฟุก ระบุด้วยว่า เขาพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่นในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านอสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรบุคคล