วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยผ่านระบบ Video Conference จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นสัปดาห์ที่ 2 จากบ้านพัก ที่นายกฯ ต้องกักตัวภายหลังได้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิค ตั้งแต่ไปเปิดงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยการกักตัวของนายกฯ วันนี้ถือเป็นวันที่ 9 แล้ว
คำสั่งการล็อคดาวน์พื้นที่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด เริ่มมีผลวันที่ 12 ก.ค.2564 ซึ่งทำให้มีการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา อย่างน้อย 14 วัน
ทั้งนี้ จะช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ประชาชนตามข้อกำหนดของ ศบค.ฉบับที่ 27 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้เสนอ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มจากเดิม 4 สาขาอาชีพ เป็น 9 สาขาอาชีพ โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 5 สาขา ได้แก่
1.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
2.สาขาการขายส่งและการขายปลีก
3.สาขาการซ่อมยานยนต์
4.สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ
5.สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา
ระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน โดยรูปแบบการช่วยเหลือ
การประกาศล็อกดาวน์ครั้งนี้สั่งให้ปิดกิจการ ได้แก่กิจการก่อสร้าง,กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร,กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ,กิจการบริการอื่น ๆซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจดังกล่าวได้รับการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะเดียวกัน โดยได้มีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้พิจารณากำหนดการเยียวยาในครั้งนี้ ซึ่งแบ่งเป็น
-แรงงานในระบบประกันสังคม ม.33กลุ่มลูกจ้างจะได้รับเงิน 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แรงงานสัญชาติไทยได้รับเงินพิเศษอีก 2,500 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คน
-ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท
–ส่วนกิจการที่อยู่นอกระบบประกันสังคมก็จะได้รับความช่วยเหลือโดยต้องยื่นลงทะเบียนกับระบบประกันสังคมทันที โดยลูกจ้างสัญชาติไทยได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,500 บาท และนายจ้างได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คนเช่นกันโดยมาตรการนี้เป็นการจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ
อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบลงทะเบียนที่เดิมเคยให้มีการใช้งานการลงทะเบียนผ่านระบบแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์จะมีการปรับปรุงให้ลงทะเบียนในช่องทางอื่นแทนเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลและอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ลดค่าไฟ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.)
2.ลดค่าน้ำ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.)
รวมทั้งมีมาตรการลดค่าเทอม โดยให้กระทรวงการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาในเทอมที่ 1 เป็นกรณีพิเศษ เพราะมีการเรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ครม.พิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย.2564