บอร์ดม.36 ค้าน!?!รฟม.ประมูลสีส้มรอบใหม่ แนะเคลียร์คดีในศาลให้จบก่อน

1075

หลังรฟม.ชงเปิดประมูลใช้เกณฑ์ประมูลด้านราคาควบเทคนิค ซึ่งเป็นเกณฑ์ใหม่อื้อฉาวว่าไม่โปร่งใส และมีคดีพิพาทคาศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกม.36 ซึ่งจะต้องเป็นผู้อนุมัติให้รฟม.ประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ยังไม่เห็นชอบให้ดำเนินการให้รอผลการพิจารณาจากศาลคดีสิ้นสุดก่อน ขณะที่มีกระแสข่าวว่ามีการซุ่มเจรจาบีทีเอสให้ยกฟ้องโดยแลกต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว

เรื่องนี้ จริงหรือไม่ไม่รู้  แต่บีทีเอสยืนยันจุดยืนค้านการใช้เกณฑ์ใหม่ประมูลสีส้ม และการชดใช้หนี้ค้างจ่ายของรถไฟฟ้าสีเขียว เป็นสิ่งชอบธรรมที่รัฐบาลจะต้องใช้คืนอยู่แล้ว อีกทั้งจะต่อสัญญาสีเขียวหรือไม่ก็ไม่อาจใช้มาเป็นข้อต่อรองได้

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านบาทว่า หลังจากฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ประกาศเดินหน้าเปิดประมูลใหม่และยืนยันว่าคดีฟ้องร้องที่มีอยู่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประมูล  เนื่องจากศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกฟ้องคดีต่างๆ เกือบหมดแล้ว  

ขณะเดียวกันการประชุมคณะกรรมการ รฟม.ล่าสุดที่ประชุมได้รับทราบรายงานของฝ่ายบริหารที่อ้างว่า ยังไม่สามารถเริ่มจัดประมูลใหม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม และประสานไปยังองค์การต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังคงไม่เห็นชอบต่อร่างทีโออาร์การประมูล เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนด้านคดีความต่าง ๆ ที่รฟม.ถูกฟ้องอยู่ โดยเฉพาะคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

สำหรับสาเหตุที่องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ยังไม่มีหนังสือตอบไปยัง รฟม.นั้นเพราะเกรงว่าการส่งคนเข้าร่วมสังเกตการณ์จะกลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้ รฟม.นำไปฟอกขาวโครงการนี้ เพราะก่อนหน้านี้เป็นที่น่าสังเกตว่า รฟม.อ้างมาโดยตลอดว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีการลงนามในข้อตกลงคุณธรรมมาตั้งแต่แรกแล้วตั้งแต่ปี 2561 โดยที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ได้รับทรายรายละเอียดหรือส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมแต่อย่างใด 

ทั้งนี้จากการที่ฝ่ายบริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส (BTS) ออกมาแสดงจุดยืนล่าสุด หาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังคงนำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่จะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาประกอบกันมาใช้ ทางบีทีเอส คงจะใช้สิทธิ์โต้แย้ง และอาจถึงขั้นฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง รวมทั้งยังส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้แทนหน่วยงานที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกด้วยนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกระทรวงคมนาคม และพรรคการเมืองที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคมอย่างหนัก

ที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวว่ามีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อขอให้กลุ่มบีทีเอสยกเลิกการฟ้องร้องจากการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเพื่อแลกกับการที่  กทม.จะดำเนินการต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเชียว ให้กับกลุ่มทีบีเอส  แต่ทางบีทีเอสยืนยันว่าทุกอย่างเลยขั้นตอนการเจรจาไปหมดแล้ว และขอใช้สิทธิ์ในชั้นศาลเท่านั้น จึงทำให้เส้นทางการเจรจาต่อขยายสัญญาสัมปทานระหว่าง กทม.กับ บมจ.บีทีเอส ยังคงไม่มีท่าทีว่าจะได้ข้อยุติลงเมื่อใด 

 

 

ด้านบีทีเอส แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ทุกอย่างเลยขั้นตอนการเจรจาไปหมดแล้ว และแม้มีผลมาจากความล่าช้าในการพิจารณาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งการจ่ายหนี้ค้างกว่า 30,000-40,000 ล้านบาทของ กทม.จะล่าช้า แต่บริษัทยังเชื่อมั่นว่าในที่สุดหนี้จำนวนดังกล่าวจะได้รับชดใช้อยู่ดี เพราะเป็นหนี้ที่เกิดจากนโยบายรัฐโดยตรง ไม่สามารถตะบิดพลิ้วได้  ขณะที่ความพยายามแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ไม่สามารถจะนำมาเป็นเงื่อนไขต่อรองกรณีดังกล่าวได้ 

อย่างไรก็ตาม  ความคืบหน้าในการเปิดประมูลใหม่นั้น หลังจากบีทีเอสได้แสดงจุดยืนอาจใช้สิทธิ์โต้แย้ง หากรฟม.ยังคงนำเอาหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหากลับมาใช้อีกนั้น ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกชุดใหม่ที่เข้ามาไม่กล้าตัดสินใจให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การประมูลตามที่ฝ่ายบริหาร รฟม.นำเสนอ  เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่าควรรอความชัดเจนด้านคดีความจากศาล โดยเฉพาะคดีที่รฟม.ถูกฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปัญหายังค้างคาที่ศาลหากผลตัดสินของศาลออกมาไม่เป็นไปตามที่รฟม.คิด ย่อมส่งกระทบต่อโครงการเกิดความเสียหายได้

ด้านดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่งมหภาค ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นเกี่ยวกับ การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศ ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครอง 

แต่ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้บีทีเอสฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฯ น่าเป็นห่วงว่าผู้ถูกฟ้องจะถูกลงโทษจำคุกเหมือนกับอดีตผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทยในคดีแอร์พอร์ตลิงก์หรือไม่?

จนถึงเวลานี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มช้ากว่าแผนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ รฟม. คือกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิมนั่นคือเกณฑ์ราคา แต่ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคมาก่อน เพราะจะใช้เวลาสั้นกว่า และที่สำคัญ ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอีก แต่หากยังฝืนใช้เกณฑ์ประมูลใหม่นั่นคือเกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา จะทำให้เสียเวลานานมากขึ้น และที่สำคัญ อาจจะถูกฟ้องร้องอีกก็ได้

ย้ำกันแล้วทั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯและดร.สามารถฯ ว่ารฟม.ควรทบทวนความคิดที่จะใช้เกณฑ์ใหม่ที่อื้อฉาวว่า มีช่องโหว่ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อสาธารณชน และคดีความพิพาทเรื่องนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ รอศาลพิพากษาชี้ขาดเพื่อเป็นหลักประกันว่า ที่ทำไปและคิดจะทำถูกต้องหรือ ผิด ทางที่ดีกลับไปใช้เกณฑ์เดิมก็ยังไม่สาย ก็จะสามารถเดินหน้าเปิดประมูลต่อไปได้!!