รัสเซียเดินสายอาเซียน หนุนมติแก้ปัญหาเมียนมาโดยสันติ!?!เผยบทบาทสร้างสมดุลอำนาจคู่ขัดแย้งสหรัฐ-จีน ส่งซิกไม่นานปูตินจะมา

1590

ฮือฮากับการกลับมาของรัสเซียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบ 30 ปีนายเซอร์เก ลาฟรอฟ(Sergei Lavrov) รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ได้ปฏิบัติภารกิจเยือนกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวลา 4 วัน ได้ระบุว่ารัสเซียสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนแก้ปัญหาเมียนมาด้วยสันติ และระบุว่าการจัดตั้งคณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนเป็นสิ่งที่จำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา และก่อนเดินทางต่อได้บอกกับรมว.ต่างประเทศอาเซียนว่าปธน.วลาดีเมียร์ ปูตินจะมาเยือนอินโดนีเซียภายในปีนี้

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 สำนักข่าวสปุตนิค(Sputnik) ของรัสเซียรายงาน อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายเซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รมว.กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียต่อสื่ออินโดนีเซีย รัคยัทเมอร์เดกา(Rakyat Merdeka) ว่า การใช้ช่องทางสื่อสารของอาเซียนและเมียนมาที่มีอยู่หลากหลายช่องทางอยู่เดิมในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาวิกฤติในเมียนมา และการมีคณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนจะสามารถส่งผลเชิงบวกให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ ทั้งนี้ คำสัมภาษณ์ดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมออนไลน์ระดับ รมว.กต.อาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ซึ่งมีกำหนดจัดประชุมในวันเดียวกันนี้ (6 ก.ค.2564) โดยรัสเซียและอินโดนีเซียในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-รัสเซีย เป็นเจ้าภาพร่วม และคาดว่าประเด็นสถานการณ์ในเมียนมาและการเร่งรัดให้อาเซียนจัดตั้งคณะผู้แทนพิเศษโดยเร็วจะเป็นประเด็นหนึ่งในการประชุมดังกล่าว 

 

ในงานนี้รมว.ต่างประเทศรัสเซียได้เดินทางจากบรูไนถึงกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ได้เข้าพบนางรัตโน มาร์ซูดี (Ms RetnoMarsudi)รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเปิดเผยว่า ได้สรุปเนื้อหาใจความสำคัญของรัฐบาลรัสเซีย ที่ส่งให้กับเหล่าผู้นำกองทัพเมียนมา และแจ้งกับนางมาร์ซูดีว่า รัสเซียพิจารณาสนับสนุนท่าทีของอาเซียน “บนพื้นฐานการฟื้นฟูสถานการณ์เมียนมาให้กลับคืนสู่สภาพปกติ” กับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง และเริ่มต้นการเจรจาที่เป็นมรรคผลเพื่อหาทางออกอย่างสันติและเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชน

นอกจากนี้ นายลาฟรอฟยังย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับอินโดนีเซีย ซึ่งเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลางจากประเทศที่มีระบบ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือ G20 ในปีหน้า และยังพูดคุยการเตรียมพร้อมของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่จะเดินทางเยือนอินโดนีเซียในปีนี้ด้วย อีกทั้งยังร่วมกันเป็นประธานการประชุมวิดีโอคอลกับคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ก่อนที่นายลาฟรอฟจะเดินทางต่อไปยังประเทศลาว

ในวันเดียวกันนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์คู่เจรจา ย้ำความสำคัญหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมืออาเซียน-รัสเซียตลอด 25 ปีที่ผ่านมา และทิศทางความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสาขาที่มีศักยภาพเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมให้ทั้งสองภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญของความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายวัคซีนของรัสเซียในภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเชิญชวนให้รัสเซียร่วมมือในด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green – BCG Economy) ด้วย

สำหรับการเยือนอาเซียนของลาฟรอฟ เกิดขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ หลังพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เยือนรัสเซีย เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคง ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และพบหารือกับพล.อ.เซอร์เก ชอยกู รมว.กระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ที่กรุงมอสโก โดยพล.อ.มิน อ่อง หล่าย แสดงความขอบคุณและซาบซึ้งใจ ต่อความสนับสนุนทางทหารจากรัฐบาลมอสโก และแสดงความเชื่อมั่นด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีแต่จะพัฒนายิ่งขึ้นไป

ขณะที่พล.อ.ชอยกู กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเมียนมา ว่า “ระยะเวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดี ในการที่เมียนมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และไว้วางใจได้สำหรับรัสเซีย และความร่วมมือทางทหารระดับทวิภาคีถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเมียนมา