กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปธน.โจ ไบเดนให้อังกฤษจัดประชุม G7 ที่ยุโรป เจตนาหลักอเมริกาแค่ต้องการกล่อมให้ประเทศต่างๆ คว่ำบาตรจีนเพื่อผลประโยชน์อเมริกาเท่านั้น ซึ่งทุกประเทศรู้ทันแต่ต้องโอนอ่อนไปตามวาระขาใหญ่ออกแถลงการณ์ตำหนิจีนและรัสเซียพอเป็นพิธี ทางการเมืองการทูตก็ว่าไป แต่ที่สำคัญเรื่องเศรษฐกิจ เยอรมนีและฝรั่งเศสไม่รอช้าประชุมร่วมกับจีนเตรียมจัดใหญ่ประชุมสหภาพยุโรปก่อนกำหนด พุ่งเป้าด้านยุทธศาสตร์การค้า การลงทุนและวัฒนธรรม แบบนี้ไม่เรียกว่าโจ ไบเดนหน้าแตกไม่รับเย็บก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
สนข.ซินหัว,เซ้าท์ไชนามอร์นิงโพสต์และ โกลบอลไทม์รายงาน เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 ถึงการประชุมผู้นำระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง(Xi Jinping) ของจีนในการจัดประชุมทางไกล ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 5 ก.ค.2564 ร่วมกับประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง(Emmanuel Macron) แห่งฝรั่งเศส และ นรม.อังเกลา แมร์เคิล(Angela Merkel) แห่งเยอรมนี โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศ ต่างตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาด COVID-19 ในหลายภูมิภาคของโลก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้ ปธน.สี จิ้นผิง เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเชื่อมั่นและไว้วางใจในความสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น เลิกมองว่าจีนเป็นปรปักษ์ เพื่อที่จีนและยุโรปจะได้ร่วมมือกันบนพื้นฐานของความไว้วางใจระหว่างกันในการรับมือกับความท้าทายระดับโลกใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจีนยินดีจัดการประชุมผู้นำจีน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 23 ก่อนกำหนด เพื่อหารือประเด็นยุทธศาสตร์ การค้า วัฒนธรรม ดิจิทัล และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
สีกล่าวว่า “โลกต้องการความเคารพซึ่งกันและกันและความร่วมมืออย่างจริงใจมากกว่าที่เคย แทนที่จะเป็นเกมที่ระแวงสงสัยและผลออกมาเป็นศูนย์ หวังว่าจีนและสหภาพยุโรปจะขยายฉันทามติและความร่วมมือ และมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกอย่างเหมาะสม”
ตามบทสรุปรายงานของจีนกล่าวว่า ฝรั่งเศส “มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับจีนอย่างต่อเนื่องในเชิงปฏิบัติ สนับสนุนข้อสรุปของข้อตกลงการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรปกับจีน เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และยินดีต้อนรับบริษัทจีนให้ลงทุนในฝรั่งเศส”
นอกจากนี้ฝรั่งเศสเต็มใจที่จะรักษาการสื่อสารกับจีนต่อไปในประเด็นต่าง ๆ เช่นการปฏิรูปหน่วยงาน WTO สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
แถลงการณ์ระบุถึงการมีส่วนร่วมของแมร์เคิลว่า “เยอรมนีสนับสนุนการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-จีนครั้งที่ 23 (EU-China Summit)โดยเร็วที่สุด และหวังว่าข้อตกลงการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรปและจีนจะได้รับการอนุมัติโดยเร็วที่สุดเช่นกัน
ด้านนางแมร์เคิลกล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับจีนที่เอาชนะผลกระทบของโรคระบาดไวรัสโควิด-19และตระหนักถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนา”
บทสรุปของการประชุมที่ออกโดยสำนักงานของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล กล่าวว่า ทั้งสามได้ “แลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเฉพาะเกี่ยวกับสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและจีน” และ “ยังได้พูดคุยเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ การปกป้องสภาพภูมิอากาศ
สีกล่าวว่า “จีนมีความหวังว่าสหภาพยุโรปจะมีบทบาทอย่างแข็งขันมากขึ้นในกิจการระหว่างประเทศ และรวบรวมความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์พร้อมกับร่วมกันรักษาสันติภาพของโลกอย่างแท้จริง ”
กลุ่ม G7 ได้เปิดตัวโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคู่แข่งกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ BRI: Belt and Road Initiative ของจีน ในขณะที่การประชุมสุดยอดระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในสัปดาห์ต่อมาได้จัดตั้งสภาการค้าและเทคโนโลยี ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนทางควบคุมจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยเมื่อวันจันทร์ แมร์เคิลกล่าวว่าเธอ “เต็มใจที่จะศึกษาและเข้าร่วมอย่างแข็งขัน” การสนับสนุนของจีนสำหรับโครงการริเริ่มหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของแอฟริกา ซึ่งพยายามเพิ่มการมีส่วนร่วมของปักกิ่งในแอฟริกาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น