ฝ่านค้านเสียงแตก! “เจี๊ยบ ก้าวไกล” โวยลั่น เพื่อไทย ไม่ให้แก้หมวด 1-2 อ้างสร้างบรรทัดฐานผิด ส่งผลเสียระยะยาว!?
จากกรณีที่วันนี้ (15 มิถุนายน 64) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงจุดยืนพรรคก้าวไกลในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อย่างไรก็ตาม ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย คือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ดังนั้น จึงขอคัดค้านหากประธานรัฐสภาจะเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อนตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาปลายเดือนนี้ประธานรัฐสภาต้องกำหนดวาระตามปกติ ให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น
2.การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก ผ่านการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่ตนเองคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน และผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น
3.การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หลากหลายมาตราตามเกมของพรรคพลังประชารัฐนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือไปช่วยกันตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น และช่วยกันต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบันควรพุ่งเป้าให้ชัดเจนไปยังการปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจึงเห็นชอบให้เสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ดังนั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วยื่นต่อประธานสภาในวันพรุ่งนี้”
4.ที่ประชุมพรรคมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งส.ส.ร. เนื่องจากเราไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ
5.สำหรับเรื่องระบบการเลือกตั้งต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาล ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องปรับปรุง ทางพรรคเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ พรรคขอย้ำว่า ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คู่ขนานไปกับการทำลายหัวใจในการสืบทอดอำนาจด้วยการปิดสวิตช์ ส.ว. ก่อน
เมื่อถามว่าพรรคไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ เพราะเสียประโยชน์ใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เรายืนยันพร้อมต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 40 เท่านั้น ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด เสียงต้องไม่ตกน้ำหรือไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผลออกมาแล้วไม่เป็นพรรคใหญ่ก็มีแค่พรรคเล็กไปเลย ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ แต่วิธีการคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบเขต และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีหลายสูตร ซึ่งระบบปันส่วนผสมแบบเยอรมัน เป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ เราจึงเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคปวงชนไทย และตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณาท่าทีต่อการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องการให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระถัดไป ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น โดยเฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ทุกพรรคเห็นพ้องในทิศทางเดียวกัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 คาดว่าจะมีประชุมร่วมวิป 4 ฝ่ายในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดวาระประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22 มิ.ย.นี้
ทางด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกล ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องนำมาสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะต้องจัดลำดับความสำคัญของกฎหมาย ซึ่งเป้าหมายของพรรคต้องการแก้วิกฤติโดยมีโจทย์เพื่อแก้ไขอำนาจ ส.ว. ที่เคยเสนอมาตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่าจะลงชื่อร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคพร้อมสนับสนุนตามหลักการระบบรัฐสภา แต่มองว่าการนำเสนอวาระการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่รัฐบาลขอเป็นวาระพิเศษนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง รัฐบาลไม่มีหน้าที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ยกเว้นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ดังนั้นขอร้องให้ประธานสภาฯ ใช้อำนาจทำหน้าที่ในเรื่องการบรรจุระเบียบวาระ เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมก่อน หากรัฐบาลขอร้องให้รัฐสภาบรรจุเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษเท่ากับว่ารัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา จึงอยากให้ประชาชนช่วยติดตามใกล้ชิดและผลักดันรัฐธรรมนูญเพื่อแก้วิกฤติของประเทศ
โดยก่อนหน้านี้ 13 มิถุนายน 2564 ที่พรรคเพื่อไทย(พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 ร่าง ว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งแก้รัฐธรรมนูญแบบแก้ทั้งฉบับ คือยื่นให้มีการแก้ไขมาตรา 256 แบบปีที่แล้วโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และแก้ไขเป็นรายมาตราเพื่อเพิ่มสิทธิ และเสรีภาพของปวงชนชาวไทย, เสนอแก้บัตรเลือกตั้ง เป็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการแก้มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตซ์ส.ว. ทั้งนี้ ในวันที่14 มิ.ย.นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้ประชุมกันอีกครั้งเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ และจะได้มีการแถลงถึงท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการยุบสภา นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยพร้อม หากมีการยุบสภา และไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง และมั่นใจว่าเราจะได้ส.ส.เพิ่มขึ้นด้วย การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้เราจะได้เพียงส.ส.เขต แต่เราก็เป็นพรรคอันดับ 1 เราได้ส.ส.มากกว่าพรรคอันดับ 2 ถึงประมาณ 20 เสียง ซึ่งโดยปกติแล้วพรรคอันดับ 1 ชนะพรรคอันดับ 2 ถึง 20 เสียง เราต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ที่เราไม่ได้ตั้งรัฐบาลเพราะคุณใช้กติกาที่ให้ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็พร้อมสู้ โดยจะส่งผู้สมัครทั้ง 350 เขต แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือให้เลือกตั้งคน เลือกทั้งพรรค เราก็ยิ่งชำนาญใหญ่ เราได้แชมป์มาตลอด โดยการเลือกตั้ง 5 หลังสุดของประเทศไทย พรรคเพื่อไทยที่ต่อยอดมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) เราก็ได้แชมป์มาตลอด เราได้ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ ดังนั้นความเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 ของประเทศไทย เราไม่หวั่นไหว
ล่าสุดทางด้าน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า
มติสส.พรรค #ก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรธน.ฉบับพรรคเพื่อไทย ที่จำกัดไม่ให้แก้ในหมวด 1 และหมวด 2 เราเห็นว่าสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ย่อมมีความชอบธรรมที่จะแก้ไขรธน.ได้ทุกมาตรา การไปตั้งข้อจำกัดเช่นนั้นจะสร้างบรรทัดฐานที่ผิด และจะส่งผลเสียในระยะยาว