หรือนายกยึดพปชร.แล้ว? “สันติ” กลุ่มประยุทธ์ นั่งเลขาพรรค! ย้อนลึกผนึกสุชาติหักธรรมนัส-แยกทาง 4ช.

1561

หรือนายกยึดพปชร.แล้ว? “สันติ” กลุ่มประยุทธ์ นั่งเลขาพรรค! ย้อนลึกผนึกสุชาติหักธรรมนัส-แยกทาง 4ช.

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.2565) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค โดยระบุว่า

คำสั่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ 55/2565 เรื่องแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติให้บุคคลพ้นจากสมาชิกภาพของการเป็นสมาชิกพรรค มีผลให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐว่างลง

อาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 14 จึงแต่งตั้ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรค ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค แทนตำแหน่งที่ว่างจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2565
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า ธรรมนัส ได้พูดคุยกับส.ส. เพื่อให้โหวตคว่ำพลเอกประยุทธ์ หลังจากนั้น เพียงหนึ่งสัปดาห์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เกิดกระแสความขัดแย้งของพลเอกประยุทธ์และธรรมนัสมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 นายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่เคยเป็น 1 ใน 4 ช. ที่ประกอบไปด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ซึ่งหลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไม่ไว้วางใจและมีกระแสข่าวๆต่างๆ ทำให้นายสันติ ตีตัวออกห่างจากกลุ่มธรรมนัสโดยแตะมือกับ เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คู่แค้นของธรรมนัส

โดยในวันนั้น นายสันติ ได้เดินทางเข้าทำเนียบฯ เพื่อเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ โดยใช้เวลาในการหารือ 1 ชั่วโมง โดยก่อนหน้านี้ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา มีกระแสข่าวแกนนำบางคนในพรรค พปชร. ได้มีการเคลื่อนไหวคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ แต่นายสันติ เป็นหนึ่งในแกนนำของพรรคที่เคลื่อนไหวปกป้องพล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่นำ ส.ส. เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่รัฐสภา และมีกระแสข่าวว่านายสันติได้แยกตัวออกมาจากกลุ่ม 4 ช.หลังมีปัญหากับธรรมนัส

โดยในขณะนั้น กลุ่มธรรมนัส มี ส.ส.สายเหนือ เป็นแขนขาประกอบด้วย บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก ,ภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก ,ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ,สัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ และวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง ส่วน ส.ส.พิจิตร 3 คน และ ส.ส.พิษณุโลก อีก 2 คน ก็ยังไม่ชัดว่าอยู่กับกลุ่มผู้กองธรรมนัส เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาสังกัดกลุ่มสามมิตร นอกจากนี้ ในภาคอีสาน ส.ส.เขต 11 คน ก็อยู่ในสายผู้กองธรรมนัส 8 คน ที่ดูแลโดย เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ ธรรมนัส ยังเก็บเกี่ยว ส.ส.สมัยแรกจากภาคกลางและภาคใต้ อีกประมาณ 20 คน แต่จุดอ่อนของ “ส.ส.ภาคใต้” สามารถย้ายไปขั้วไหนก็ได้ วึ่งหลังจากที่มีมติขับ 21 ส.ส. ก๊วนธรรมนัส ออกจากพลังประชารัฐนั้น มีรายงานว่า ไม่มีส.ส.ภาคใต้ที่ไปกับกลุ่มธรรมนัสแม้แต่คนเดียว และยังมีจุดยืนในการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ อีกด้วย

คู่แข่งของกลุ่มธรรมนัส คือ “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง ที่ถอยออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งขณะนี้ ก็ได้มานั่งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แทนธรรมนัสที่ถูกขับออกไป ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า พลเอกประยุทธ์ จะเข้ามายึดพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ซึ่งเรากฤ็ต้องจับตาดูทิศทางการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐต่อไป