จากกรณีที่มีชายคนหนึ่ง ได้ก่อเหตุตบหน้าประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง และมีเสียงตะโกนว่า “ระบอบมาครงจงล่มสลาย” ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะกันตัวประธานาธิบดีออกไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
โดยเมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน 2564) มีรายงานว่า ดาเมียน ตาเรล ชายวัย 28 ปี ผู้คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์ยุคกลาง โดนควบคุมตัวไว้นับตั้งแต่ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จังหวัดโดรม ซึ่งอัยการอเล็กซ์ เปรอง กล่าวต่อศาลเมืองวาลองซ์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า เป็นการกระทำที่ “ไม่อาจยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง” และเป็น “การใช้ความรุนแรงโดยเจตนา” และขอให้ศาลลงโทษจำคุกเขา 18 เดือน ตามฐานความผิดนั้น ชายหนุ่มผู้นี้เสี่ยงต่อการโดนลงโทษจำคุก 3 ปีและปรับอีก 45,000 ยูโร (ราว 1.7 ล้านบาท)
ในคำตัดสินของศาลภายหลังการไต่สวนอย่างรวดเร็ว ผู้พิพากษาลงโทษเขาตามที่อัยการเสนอ คือจำคุก 18 เดือน แต่โทษ 14 เดือนให้รอลงอาญา ภายหลังคำพิพากษา เขาถูกจับกุมและส่งเข้าคุกเพื่อเริ่มรับโทษทันทีตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป หนุ่มผู้คลั่งไคล้บอร์ดเกมและประวัติศาสตร์ยุคกลางผู้นี้กล่าวกับพนักงานสอบสวนว่า ที่เขาทำลงไปนั้นเกิดด้วยสัญชาตญาณและไม่ทันยั้งคิด เหตุการณ์นี้เกิดระหว่างที่เขามารอดูผู้นำฝรั่งเศสเยี่ยมชมโรงเรียนในหมู่บ้าน Tain-l’Hermitage แล้วมาครงเดินทางทักทายประชาชนที่ยืนดูอยู่หลังแผงเหล็ก โดยมาจับมือทักทายเขา
โดยระหว่างให้การในศาล ตาเรลแสดงความเห็นใจขบวนการ “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ต่อต้านรัฐบาล และว่า เขาและเพื่อน 2 คนเคยคิดกันว่า จะปาไข่หรือพายครีมใส่ศีรษะของประธานาธิบดีระหว่างมาเยือนจังหวัดโดรมครั้งนี้ “มาครงเป็นตัวแทนความเสื่อมถอยของประเทศเรา” เขากล่าวต่อศาล
หนุ่มตกงานที่ใช้ชีวิตอยู่กับแฟนสาวพิการโดยอาศัยเงินสวัสดิการ กล่าวว่า เขารำคาญที่มาครงตัดสินใจเดินมาทักทายเขา ซึ่งเป็น “ยุทธวิธีการเลือกตั้งที่ผมไม่ชอบ”
ด้านผู้นำฝรั่งเศสวัย 43 ปีกล่าวภายหลังโดนทำร้ายว่า เหตุการณ์นี้เป็นแค่เหตุการณ์เดี่ยวๆ ที่เกิดขึ้น เขาจะยังคงพบปะกับผู้มีสิทธิลงคะแนนต่อไป แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยก็ตาม และมาครงกล่าวว่า นี่เป็นพฤติกรรมรุนแรงและโง่ ถือเป็นผลลัพธ์จากบรรยากาศของความเกลียดชังบนโซเชียลมีเดียที่ผู้คนคุ้นเคย แล้วคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะทำได้เมื่อเผชิญหน้ากับผู้คนจริงๆ
อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ได้เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว โดยบอกว่า ถ้าหากเกิดขึ้นในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว หากนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้ ที่มีการพาดพิงถึงสถาบันฯ จายจ้วงสถาบันอย่างร้ายแรง ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างเช่น แกนนำหลายคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และยังได้รับการประกันตัว แต่ในขณะเดียวกัน ในประเทศฝรั่งเศส ที่มีชายตบหน้าผู้นำของประเทศ ที่มีผลมาจากการปั่นกระแสความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรง และต้องได้รับโทษจำคุกทันที แถมยังเสี่ยงถูกปรับเป็นเงินกว่าล้านบาท