เปิดภาพ ธงเยาวราชใหญ่หน้ารถยนต์พระที่นั่ง “กรมสมเด็จพระเทพฯ” มีนัยสำคัญมาก อนุโลมให้ใช้ในฝ่ายในเป็นกรณีพิเศษ

12117

จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chanya Keatyam ได้เผยแพร่ภาพธงพระอิสริยยศหน้ารถยนต์พระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับระบุข้อความว่า

ธงพระอิสริยยศหน้ารถยนต์พระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ทะเบียน 905)
ใช้ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน (สำหรับพระวรชายาของ Crown Prince) แทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน (ธงเจ้าฟ้าทั่วไป) ที่ทรงเคยใช้เป็นธงประจำพระอิสริยยศก่อนหน้านี้ ซึ่งถือว่าเป็นพระอิสริยยศที่สูงขึ้น
โดยส่วนตัว ผมว่ามีนัยยะมาก เพราะธงเยาวราชใหญ่นั้น เป็นธงสำหรับ สมเด็จพระยุพราช (สยามมกุฎราชกุมาร) ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) แต่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านเป็นเจ้านายฝ่ายใน (ผู้หญิง) จึงอนุโลมให้ใช้ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน เป็นกรณีพิเศษ
ธงเยาวราช (ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2440 ผืนธงเป็นสีขาบ มีขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน เครื่องหมายที่กลางธง เช่นเดียวกับธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ คือ มีพระมหามงกุฎ โล่ตราแผ่นดิน แต่ลดฉัตร 7 ชั้น สองข้างเป็นฉัตร 5 ชั้น บัญญัติไว้ว่า
สำหรับเป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บัญญัติรูปลักษณะธงเยาวราช โดยยกเลิกเครื่องหมายพระมหามงกุฎ โล่ตราแผ่นดิน ฉัตร 5 ชั้น และกำหนดลักษณะกลางธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีเหลือง มีครุฑพ่าห์สีแดงอยู่กลาง เช่นเดียวกับธงมหาราช ธงเยาวราชมีอยู่ 2 แบบคือ ธงเยาวราชใหญ่ และธงเยาวราชน้อย
ธงเยาวราชใหญ่
ผืนธงเป็นรูปสีเหลี่ยมจตุรัส พื้นธงมี 2 สี รอบนอกเป็นสีขาบ รอบในเป็นสีเหลือง ขนาดความกว้างยาวเป็นครึ่งหนึ่งของรอบนอก มีรูปครุฑพ่าห์อยู่ตรงกลาง
ธงเยาวราชน้อย
ผืนธงตอนต้น มีลักษณะและสี เช่นเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายเป็นชายต่อสีขาบ เป็นรูปธงยาวเรียว ตอนปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วน ของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงยาวเป็น 8 เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้เมื่อใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า โปรดเกล้า ฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน
ธงเยาวราชฝ่ายใน (ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตราไว้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2442 มีลักษณะเหมือนธงเยาวราช แต่ตัดปลายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ผืนธงเป็นพื้นสีขาบ ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน เครื่องหมายกลางธง เช่นเดียวกับธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร แต่ลดฉัตร 7 ชั้น สองข้างเป็นฉัตร 5 ชั้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนรูปกลางผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงตรงกลาง พื้นธงรอบนอกสีขาบ เช่นเดียวกับธงประจำพระองค์สมเด็จพระยุพราช ธงเยาวราชฝ่ายในมีอยู่ 2 แบบ คือ ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน และธงเยาวราชเล็กฝ่ายใน ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน ผืนธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้นเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายเป็นสีขาบ ตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ของความยาวผืนธง