สปส.ย้ำผู้ประกันตนมี 80 รพ.พร้อมฉีดวัคซีน!?!เริ่มฉีดมิ.ย.นี้ ใครถูกเลิกจ้างพร้อมจ่าย 70% ดูแลทั้งนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่าโควิด

1289

ประกันสังคมเปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มผู้ประกันตนเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ พร้อมเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนฯ ที่โดนเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ขอให้ผู้ประกันตนที่อยู่พื้นที่ชุมชนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 จะได้ประสานการรักษาที่รวดเร็วขึ้น 

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 นายนนทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยถึงแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน ว่า นายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นถึงกลุ่มผู้ประกันตน กลุ่มคนที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อค่อนข้างสูง อาจทำให้กลุ่มคนเหล่านี้นำเชื้อไปสัมผัสกับญาติพี่น้องเวลากลับบ้าน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งตรวจสอบฐานข้อมูลของกลุ่มผู้ประกันตนตามสถานประกอบการต่าง ๆ พบว่าผู้ประกันตนจำนวนประมาณ 6 ล้านคน ล่าสุดขณะนี้ผู้ประกันตนประมาณร้อยละ 80 มีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 80 แห่งทั่วประเทศยืนยันให้ความช่วยเหลือในการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งในเดือนมิถุนายน ที่มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกจำนวน 1.5 ล้านโดส  ได้วางแผนเตรียมการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ลงทะเบียนเข้ามาแล้ว จำนวนประมาณ 2 ล้านคน และอาจมีเพิ่มเติมอีก เนื่องจากรับลงทะเบียนถึงวันศุกร์ที่ 21 พ.ค.2564 โดยผู้ประกันตนสามารถแจ้งความจำนงให้ผู้ประกอบการส่งรายชื่อผู้ประกันตนเข้ามาที่สำนักงานประกันสังคม ในเบื้องต้น ผู้ประกอบการใดที่แจ้งเข้ามาก่อนจะได้สิทธิก่อน 

โดยจะทยอยดำเนินการในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม นี้ โดยให้สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 เขต ประสานหน่วยงานในท้องที่ ทั้งในส่วนราชการ โรงพยาบาลเอกชน ในการจัดพื้นที่ในการฉีดวัคซีน เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบการ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมและวางแผนอย่างชัดเจน 

โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กรณีการลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นั้น ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังดำเนินการที่ชัดเจน  ขอให้มั่นใจว่า การลงทะเบียนจะไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากข้อมูลที่ลงทะเบียนจะไปอยู่ในฐานเดียวกัน  

สำหรับโรงพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้น เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มีการเชิญชวนเข้ามาเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญา ซึ่งมีกว่า 80 แห่ง  โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการตรวจ Swab หากพบว่าบุคคลใดติดเชื้อโควิด-19 จึงจะส่งรักษาตามสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ยืนยันว่า Hospitel มีจำนวนเพียงพอ สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้อีก 5 – 6 พันเตียง สำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้ว สามารถติดต่อไปยังสายด่วน 1506 มีคู่สายในช่วงเวลาทำการกว่า 200 คู่สาย เพื่อช่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงถึงการเยียวยาลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและโดนเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการ หรือลดคนงาน นั้น นายจ้างจะต้องแจ้งประกันสังคมก่อนเลิกจ้าง เพื่อให้ประกันสังคมจ่ายเงินว่างงานแก่ลูกจ้างที่โดนเลิกจ้างหรือลาออก ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์จากเดิมร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นร้อยละ 70 ของเงินเดือน ภายในระยะเวลา 200 วัน โดยร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลผู้ประกันตน หากลูกจ้างเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้าง 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกอบการ 

-มีการลดอัตราเงินสมทบทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม จากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 

-รวมกับมาตรการต่อระยะเวลาโครงการ ม. 33 เพิ่มเงินให้แก่ผู้ร่วมโครงการอีก 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่าหนึ่งแสนล้านบาท 

-นอกจา่กนี้ ยังมีโครงการเสริมสภาพคล่องให้แก่นายจ้าง โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กรณีขอสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี กรณีการขอสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกันดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี 

โดยกระทรวงแรงงานยังขอความร่วมมือให้คงการจ้างงานอย่างน้อยร้อยละ 80 เพื่อให้ลูกจ้างได้มีงานทำ และเร่งเดินหน้าเรื่องการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากประกาศปิดสถานประกอบการในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ด้วย