จุรินทร์ฯปลื้มเซลล์แมนพาณิชย์!?! ดันส่งออกฟื้นตัวมี.ค.โต 8% ลุยจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ดันเป้าขายปีนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท

1829

ก.พาณิชย์ยันส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดเดือน มี.ค. 64 บวกไม่น้อยกว่า 8% เป็นฝีมือการขับเคลื่อนของทีมเซลส์แมนพาณิชย์ ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ ร่วมกับภาคเอกชนภายใต้วิกฤตโควิด-19 ประสบผลสำเร็จเตรียมลุยต่อ โดยจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ตั้งเป้าปีนี้ขายได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือนจะจัดกิจกรรมรวม 85 ครั้ง ระบุจะช่วยเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ให้มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ในการมอบนโยบายแก่ทีมเซลส์แมนจังหวัดในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webinar ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Saleman จังหวัด Go-inter ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ประสบผลสำเร็จ

กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และภาคเอกชนส่วนอื่นๆ เห็นตรงกันว่าส่งออกของไทยได้พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังจะทะยานขึ้น สามารถทำตัวเลขส่งออกดีขึ้นเป็นลำดับ 

หลังจากที่ทำตัวเลขต่ำสุดในช่วงที่เจอวิกฤตโควิด-19 สงครามการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เมื่อกลางปีที่แล้ว คือช่วงเดือน พ.ค. 2563 ติดลบ 22% มิ.ย. ลบ 23% และจากนั้นติดลบน้อยลง มาถึงธ.ค.บวก 4.7% และเริ่มปี 2564 ม.ค.บวก แต่ ก.พ.ลบ ถ้าเอาทองคำ ยุทธปัจจัย หรือน้ำมันออกไป ภาคส่งออกจริงก็ยังเป็นบวก และเดือน มี.ค. 2564 คาดการณ์ว่าจะบวกไม่น้อยกว่า 8% ซึ่งตัวเลขจริงจะออกปลายสัปดาห์นี้

“การส่งออกของไทยมีสัญญาณที่ดี มีสภาพเป็นตัวยู ลงมาต่ำสุด และกำลังทะยานขึ้นเป็นลำดับ จึงต้องการเรียนให้พี่น้องประชาชนได้มีความอุ่นใจในสถานการณ์ที่เราเข้าใจว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังติดปัญหาอุปสรรค แต่การส่งออกยังเดินหน้าได้ ถือเป็นตัวขับเคลื่อนปัจจุบันและในอนาคต ภายใต้การร่วมมือทำงานของทีมงานพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน และทีมเซลส์แมนจังหวัด ทีมเซลส์แมนประเทศ”

นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกผ่านระบบการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ มีผลให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ได้ร่วมมือกับเอกชนปรับรูปแบบเจรจาเพื่อการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ มาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น และช่วงหลังนี้ดูเหมือนใช้เกือบจะเต็มรูปแบบ เพราะไม่มีทางอื่น โดยมีการนำนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ มาใช้เป็นรูปแบบไฮบริด เช่น โครงการ Mirror Mirror ที่เป็นการส่งตัวอย่างสินค้าไปแสดงที่ประเทศปลายทาง และเมื่อมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสนใจ ก็เจรจาธุรกิจผ่านทางออนไลน์ รวมทั้งได้เพิ่มกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ซึ่งผู้ซื้อ ผู้นำเข้ารออยู่ในประเทศตัวเอง ทีมเซลส์แมนประเทศจะเป็นผู้ประสานงานให้ แล้วมาเจรจาซื้อขายกับผู้ส่งออกของไทย ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี

โดยผลการทำงานปีที่ผ่านมา เฉพาะการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ทำยอดขายได้ 15,000 ล้านบาท ปี 2564 ตั้งเป้าหมายภายใต้วิกฤตโควิด-19 จะทำตัวเลข 16,000 ล้านบาท คาดว่าคงจะเกิน เพราะเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่ประเมินไว้

เบื้องต้น และในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ได้ดำเนินการเจรจาจับคู่ไปแล้ว 33 ครั้ง เซ็นสัญญาซื้อขาย 992 คู่ ขายสินค้าให้ผู้ส่งออกไทย 325 ราย ผู้นำเข้ามาซื้อ 345 ราย ช่วยยอดซื้อขาย 5,280 ล้านบาท และใน 3 ไตรมาสที่เหลือถึง ธ.ค. 2564 หรือประมาณ 9 เดือน ได้กำหนดแผนงานไว้ชัดเจน กำหนดเป้าหมายจะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจรวม 85 ครั้ง จัดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยทีมพาณิชย์ เซลส์แมนจังหวัด เซลส์แมนประเทศ และภาคเอกชน จะทำงานร่วมกัน ตั้งเป้าจับคู่ให้ได้ 2,500 คู่ มีผู้ส่งออกเซ็นสัญญาซื้อขาย 750 ราย มูลค่า 10,600 ล้านบาท

สำหรับไทม์ไลน์การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ตัวอย่างที่จะจัดในปีนี้เช่น 

-เดือน พ.ค. 2564 เจรจากับวอลล์มาร์ท สหรัฐฯ และเจรจากับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าแอฟริกาใต้, 

-เดือนก.ค. 2564 เจรจาซื้อขายสินค้าฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ, 

-เดือนส.ค. 2564 เจรจาจับคู่ขายผลไม้ภาคใต้ ส่วนผลไม้ภาคอื่นได้ดำเนินการอยู่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และ 

-เดือน ธ.ค. 2564 เจรจาจับคู่เครื่องจักรกล เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ได้ตั้งเป้าหมายเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดให้มีโอกาสขายสินค้าส่งออกได้เพิ่มขึ้น