คิดถึงพ่อสุดหัวใจ..กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงไวโอลีน เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร

3428

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระอาการประชวร ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปในงานวันครบรอบ 104 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564

การนี้ ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายของขวัญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2564 ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าทูลกหม่อมถวายไวโอลิน ซึ่งผลิตโดยนายแบรทร็องค์ เดลีลล์ ช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงของประเทศอิตาลี โดยอัญเชิญพระนามาภิไธย สธ ประดับที่ไวโอลินพร้อมกล่องไวโอลินสีม่วง ประดับ พระนามาภิไธย บรรจุแผ่นคำถวายพระพร โอกาสนี้ ทรงไวโอลีน เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทั้งนี้ เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส , นภา หวังในธรรม, สวลี ผกาพันธ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีรับสั่งถึงความลับของเพลงนี้ไว้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่า

“…เมื่อแต่งมาเป็นเวลา 6 เดือน ม.จ.จักรพันธ์ได้เขียนจดหมายมาถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด…ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป…เป็น 1 3 2 4…”