ศูนย์วิจัยกสิกรและก.พาณิชย์ชี้ส่งออกฟื้น!?! ทั้งปีโต 4.5% ย้ำสินค้าเกษตรเป็นตัวจริง ต้องเพิ่มมูลค่า-เทคโนโลยีชั้นสูง

1716

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจการค้าของโลกชะลอตัวลง  แต่เมื่อมีวัคซีนและการกระจายวัคซีนแก่ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มขยับอีกครั้ง นั่นหมายถึงประเทศที่เป็นลูกค้าหลักในการส่งออกของไทยเริ่มสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น  ประเทศไทยยังมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่จะมาช่วยผลักดันการส่งออกไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับการส่งออกที่ยังเป็นรายได้หลักที่สำคัยของประเทศ  มาดูรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ฉายภาพชัดเจนของภาวะการส่งออกไทยปี 2564

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2564 รายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว เป็นผลดีต่อภาพรวมการส่งออกล่าสุดของไทยปี 2564 กลับมาเติบโต 4.5% จากกรอบประมาณการที่ 3.5-5.5% โดยเฉพาะสินค้า IT ถุงมือยาง สินค้าบริโภคที่จำเป็นรวมทั้งสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวได้ดีตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น  สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นขยาย 5.5% จากเดิมมองว่าขยายตัว 5.2%

โดยเฉพาะสหรัฐฯและจีนที่เป็นลูกค้าสำคัญของไทยตลอดมา  สหรัฐได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนขยับคาดการณ์เป็น 5.1% รวมทั้งการกลับมาเร่งตัวของเศรษฐกิจจีน คาดว่าเติบโตอย่างโดดเด่น 8.1% ตลอดจนแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในฝั่งยุโรป ล้วนปลดล็อคข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยได้อย่างดี

จากบทวิเคราะห์ระบุว่า “ภาพบวกของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นกลับมาได้มากขึ้นในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ก็จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ โดยคาดว่าปีนี้ การส่งออกไทยจะกลับมาเติบโตได้ 4.5% หรือในกรอบประมาณการที่ 3.5-5.5%” 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในมิติของตลาด และมิติของสินค้า โดยมิติของตลาดนั้น ทุกตลาดกลับมาสดใสผ่านพ้นจุดต่ำสุด และอานิสงส์จากฐานต่ำจึงกลับมาเร่งตัวดี จากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ามาช่วยคลี่คลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ส่งผลบวกให้แต่ละตลาดฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่มิติของสินค้านั้น การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่กลับมาเติบโต ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวกลับมาเป็นตัวเสริมให้ทุกสินค้าไปได้ดีในปี 2564

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป การส่งออกของไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งการส่งออกที่ฟื้นกลับมายังมีระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 อีกทั้งการเร่งตัวดังกล่าวเป็นการเติบโตที่มาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว บวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น แม้จะได้อานิสงส์จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้สินค้า IT ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่การเติบโตแบบนี้อาจไม่สามารถขับเคลื่อนการส่งออกของไทยได้อย่างยั่งยืน

โครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันยังคงตอบโจทย์ความต้องการของตลาด แต่อาจไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าหากไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่มาเพิ่มเติม หรือนักลงทุนเดิมยังคงย้ายฐานการผลิตออกไปจากไทย เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติราว 40% ทำให้ไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญสร้างรายได้อย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ICs ไดโอด ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDDs)) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ยังอยู่ในกระแสเทคโนโลยียุคปัจจุบันและไทยยังอยู่ในแผนการผลิตของนักลงทุนโลก

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจช่วยขับเคลื่อนการค้าในภาพรวมของไทยได้อีกไม่นาน เนื่องจากเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางที่ก็มีอีกหลายประเทศในเอเชียผลิตได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม ทุกวันนี้สินค้าไทยก็ต้องแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเผชิญกับโจทย์เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 การแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตเพื่อให้คุ้มค่าในการลงทุน เวียดนามก็กลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนในธุรกิจ IT และยังมีความได้เปรียบจากค่าเงินดองที่เอื้อต่อการส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า โจทย์หลักของไทยคงต้องเร่งสร้างความยั่งยืนจากการส่งออกสินค้าที่มาจากรากฐานการผลิตที่เป็นของไทยเอง นอกเหนือจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าที่นับเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยอย่างสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง) อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ซึ่งการต่อยอดการผลิตสินค้าเดิมให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการยกระดับการผลิตไทยไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดได้จริง ก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างชาติในสินค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง

นั่นเป็นความเห็นของภาคเอกชนที่เก็บสถิติ ติดตามผลการส่งออกไทยอย่างต่อเนื่องและมีข้อแนะนำที่น่าสนใจมาก มาดูผลงานกำลังหลักของกระทรวงพาณิชย์กันว่า งานที่กรมการค้าระหว่างประเทศดำเนินการอยู่และที่กำลังจะทำในปีนี้มีอะไรบ้าง?

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า วันที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมฯได้ครบรอบวันสถาปนา 69 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 70 ได้ผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการของไทย และนำรายได้เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าฝ่าโควิดกันสะบักสะบอมเลยเชียว 

อธิบดีกรมฯกล่าวว่า ทางกรมฯที่ผ่านมาได้ปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าจากออฟไลน์ เป็นออนไลน์ และจัดแบบเสมือนจริง ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเช่น งานแสดงสินค้าออนไลน์ดิจิทัล คอนเทนต์แบบครบวงจร , งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม , งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานแสดงสินค้าแบบ Mirror-Mirror ที่นำสินค้าไปจัดแสดง ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไป แต่สามารถขายสินค้าได้ผ่านทางออนไลน์ และเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการค้าออนไลน์โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ เปิดร้าน TOPTHAI ใน Amazon สหรัฐฯ , Tmall ในเครืออาลีบาบา ของจีน , Bigbasket ที่อินเดีย และคลังไทยดอทคอม (klangthai.com) ที่กัมพูชา นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น Live Streaming ประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย ซึ่งภายใน 15 นาที มีผู้ชมชาวจีนกดไลค์กว่า 16 ล้านไลค์ จัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการการค้าออนไลน์ ทั้ง SMEs ผู้ประกอบการรายใหม่ และนักศึกษา เป็นต้น

สำหรับแผนการทำงานขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2564 กรมฯ ได้กำหนดแผนการทำงานเร่งด่วนในช่วง 6 เดือน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 106 กิจกรรม ได้แก่

1.การเจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching – OBM) กำหนดจัด 21 ครั้ง เน้นสินค้าทุกกลุ่มและทุกประเภท เช่น ผัก ผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าฮาลาล เป็นต้น

2.การนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวม 11 ครั้ง ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ดูไบและอียิปต์เป็นต้น

3.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทย กำหนดจัด 24 ครั้ง 

-เป็นการจัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2021 ในอาเซียน 7 ครั้ง –จัดกิจกรรมในตลาดจีน 4 โครงการ –จัดกิจกรรมในเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย 7 โครงการ 

นายสมเด็จกล่าวว่า “การจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ได้รับจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย และผลักดันให้การส่งออกของไทยในปี 2564 มีการขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ประเมินไว้ที่ 4%”