หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางสำนักข่าวเดอะทรูธได้รายงานถึง 4 ประเด็นความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย ที่ถึงแม้ว่าจะมีส.ส. ไม่ออกเสียงจำนวน 26 คน แต่ก็ไม่สามาระขัดขวางแนวทางของพรรคได้ ทั้งนี้ อีก 4 พรรคที่เหลือ ต่างก็มีความประสงค์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เอื้อประโยชน์กับพรรคตนที่สุด
จากกรณีที่ เมื่อวานนี้ที่ 18 มี.ค. 2564 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการดำเนินการต่อ หลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติโหวตไม่เห็นชอบการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระ 3 ว่า จบไปแล้ว ส่วนในการเสนอแก้รายมาตรานั้น คงต้องเสนอในสมัยประชุมหน้า ขณะที่ประเด็นการร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ และการทำประชามติ ขณะนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน ทางสภาฯ เองก็ได้มีการหารือว่าจะมีกระบวนการในการทำอย่างไร ซึ่งยังตอบไม่ได้ แต่ถ้ากรณีที่จะทำใหม่ หากพูดตามจริงในขณะนี้ หน้าตาเป็นอย่างไร จะเริ่มอย่างไร ก็คงไม่มีใครตอบได้ ทั้งนี้ หลังจากปิดสมัยประชุมในวันนี้ ตนจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสภาฯ ไปศึกษารายละเอียด ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เน้นย้ำว่า จะต้องทำประชามติเสียก่อน ว่าจะต้องมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งเราจะต้องดู ต้องตั้งคำถามอย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีระบุ
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องถามกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เรื่องการทำประชามติ นายชวน กล่าวว่า เป็นงานด้านบริหาร ศาลก็วินิจฉัยไปตามข้อกฎหมาย แต่วิธีการปฏิบัติไม่แน่ใจว่าศาลทราบหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ นายชวน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเขียนเพื่อไม่ให้แก้ไข หลักๆ คือ เขียนเพื่อให้แก้ยากที่สุด ฉะนั้นไม่ง่ายตั้งแต่ต้น ก็เห็นใจคนที่คิดจะแก้ไข เพราะเราจะเห็นว่าการแก้มันยากมาก เงื่อนไขต่างๆ เช่น การลงคะแนนเสียงของสมาชิกหรือวุฒิสภา ต้องไม่น้อยกว่าเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ต้องการให้แก้ แต่ก็ไม่ถึงกับขั้นแก้ไม่ได้เลย หากมีการแก้รายมาตรา อาจจะง่ายกว่า แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญไปตีความว่า การแก้จะมีผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ 2560
ทั้งนี้จากการที่รัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระ 3 ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องปรับแผนกันใหม่ เพราะหากยังมุ่งเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.จะส่งผลให้กระบวนการแก้ไขฯ จะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ และใช้เวลายาวนาน ซึ่งกว่าจะสามารถบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ อาจต้องรอหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จึงสามารถทำได้เร็วกว่า
โดยทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเตรียมนัดหมายประชุมสรุปเช่นกัน เบื้องต้นมีรายงานว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จะมีตกไปจากการโหวตวาระ 3 ของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ ปชป.ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ เป็นรายมาตรา เนื่องจากเป็นคำประกาศนโยบายที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 โดยเฉพาะเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ
แหล่งข่าว ปชป.ระบุว่า ที่ผ่านมา ปชป. พยามยามเดิมหน้าผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยเน้นไปที่มาตรา 256 ในขั้นตอนและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ซับซ้อนมาก จนเกือบเรียกได้ว่าปิดประตูตาย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบจะทำไม่ได้ แต่หากพรรคสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ จะเป็นเหมือนสะเดาะกุญแจนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยให้ง่ายกว่าเดิม ทำให้จากนี้พรรคเตรียมพูดคุยกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตรา
“นอกจากนี้พรรคจะนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องป้องกันและจัดการทุจริตคอรัปชัน เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิชุมชน หรือสิทธิของผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงเรื่องของระบบการเลือกตั้งควรให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตก กระทบให้การเมืองขาดเสถียรภาพ” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว ปชป.บอกด้วยว่า ที่สำคัญในเรื่องอำนาจของหน้าที่ของ ส.ว. พรรคยืนยันสนับสนุนให้รัฐสภามีระบบ ส.ว.ต่อไป แต่ควรมีการจำกัดอำนาจ บทบาทหน้าที่ เนื่องจาก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีรายงานว่า ภท.ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีจุดยืนเดียวคือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา การยกเลิกอำนาจ ส.ว. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง และประเด็นอื่นๆ ควรเป็นอำนาจของ ส.ส.ร.
ขณะที่ทางด้านพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค กล่าวถึงแนวทางพรรคก้าวไกลว่า จะมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยจะเน้นประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ยังมองว่าเรื่องที่สำคัญและต้องทำให้เร็วที่สุดคือการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า
ส่วนแนวทางของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า เมื่อแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ เราจะรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรายมาตรา ปลดเสาค้ำยันอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนด้วยการยกเลิก ส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ
“เราจะรณรงค์อย่างแข็งขันทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมรายชื่อจากประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อปรับดุลอำนาจในสังคมไทยเสียใหม่ เชิญชวนประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด มาร่วมกันสู้ตามระบบทุกวิถีทาง ให้สุดทุกทาง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าต้องการประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเทศไทยใต้ระบอบ คสช. พบกันในการรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั่วประเทศเร็วๆนี้” นายธนาธร ระบุ
ส่วนทางด้านพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. เปิดเผยถึงแนวทาง พปชร.โดยระบุว่าต้องเดินหน้าแก้ไขรายมาตรา “ผมได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยจะนำร่างแก้ไขรายมาตราเสนอต่อพรรค พปชร. พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเสนอได้ในสมัยการประชุมหน้า ซึ่งเป้าหมายในการแก้ไขจะต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน”
พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ ได้ระบุถึงประเด็นที่จะเสนอแก้ไข อาทิ การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน การเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านและชุมชน ก็สามารถจัดหาทนายความมาให้การช่วยเหลือในทางคดี รวมถึงให้ส.ส.สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการได้ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ส.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะจะถูกมองว่าแทรกแซง
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดในส่วนของการทำงานของสภาที่ยังมีข้อติดขัดก็จะเสนอให้แก้ไข และมองว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณนั้น เห็นควรใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 60 มีความยุ่งยาก บัญญัติเนื้อหาค่อนข้างรัดกุมมากเกินไปจนเกิดอุปสรรคในการทำงาน ทั้งนี้ในเรื่องของระบบเลือกตั้งก็ต้องนำมาหารือด้วยว่า การจะใช้บัตร 2 ใบ มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร
ส่วนของบทเฉพาะกาลมาตรา 270 จากเดิมที่บัญญัติให้ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศนั้น ต่อไปจะมีการเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว โดยอาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากคนในพรรคพปชร. เห็นว่าบทบัญญัติในส่วนใดควรจะแก้ไขก็สามารถเสนอเพิ่มเติมได้ สำหรับหมวด1 หมวด2 และ38มาตรา ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชอำนาจจะไม่ถูกพูดถึงเลย