ปธ.ศาลฏีกา ยกปฏิวัติวัฒนธรรมจีน สอนนศ.ความก้าวร้าว อันตรายต่อสังคม

2262

จากที่สำนักประธานศาลฎีกา สนามหลวง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวหลังแถลงผลงานเกษียณครบวาระเรื่องการเมืองจากประสบการณ์ที่เคยเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์อยากจะบอกอะไรกับนักศึกษาที่ออกมาประท้วงหรือไม่นั้น

ทั้งนี้นายไสลเกษ กล่าวว่า ตนมองว่าก็ไม่ได้แตกต่างจากนักศึกษาในยุคนี้ เพียงแต่บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ช่วงที่เป็นนักศึกษาก็รู้สึกว่าอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ท้าทาย ต้องการเรียนรู้ หลายเรื่องที่ไม่เคยเข้าใจ สมัยตนเรียน ม.ธรรมศาสตร์ ช่วงหลังเปลี่ยนแปลง 14 ต.ค. 2516 นักศึกษามีความคิดทางสังคมเยอะ อ่านตำราทุกอย่าง ทั้งมาร์กซิสต์ เลนิน เหมา ซึ่งต้องการเรียนรู้ว่าจริงๆคืออะไร เพราะไม่รู้ ในที่สุดประสบการณ์ก็จะสอนเราเรื่อยๆ ว่า อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่

นอกจากนี้ ประธานศาลฎีกา ยังกล่าวอีกว่า ประสบการณ์การล่มสลายของประเทศคอมมิวนิสต์ ประเทศจีนที่มีเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม เด็กรังเกียจผู้ใหญ่ มองว่าพ่อแม่หรือผู้บุพการีล้าหลัง ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วก็ปฏิบัติกับผู้บุพการีหรือผู้ใหญ่ในแบบหนึ่ง ในที่สุดการปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่กลุ่มอนุรักษ์นิยมถูกขัดขวางออกจากสังคม และแล้ววันเวลาก็พิสูจน์ว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนล้มเหลว เขาทำลายทรัพยากรผู้ใหญ่ ทำลายทรัพยากรของบ้านเมือง ไม่มีการเชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายอย่างสันติ แล้วต่อมากลุ่มคนที่ปฏิวัติวัฒนธรรมก็ถูกปฏิวัติคืน จนกระทั่งไม่มีที่ยืนในสังคม

“คิดว่าถ้าจะมาเทียบกับสังคมในขณะนี้ เราต้องสอน เราต้องให้โอกาสเยาวชนของเรา ให้เขาได้เรียนรู้ได้เข้าใจ สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าความก้าวร้าว ความรุนแรง ความไม่ให้เกียรติกันนี่แหละจะเป็นอันตรายต่อสังคม ทำอย่างไรจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่น เป็นไปด้วยสันติวิธี ทุกคนมีความสุข รับได้ คนรุ่นเก่าต้องยอมรับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ต้องยอมรับคนรุ่นเก่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ยาก ตอนนี้ผมไม่มั่นใจว่าสถานการณ์สังคมไทย จุดนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า”

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า หากแกนนำนักศึกษาเหล่านั้นต้องถูกดำเนินคดีขึ้นศาล การใช้กฎหมายถูกต้องหรือไม่ ซึ่งทาง นายไสลเกษ กล่าวว่า ศาลต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก แต่ตัวกฎหมายเองก็มีความยืดหยุ่นที่ศาลสามารถจะใช้ดุลยพินิจได้ ยุคนี้ศาลจะต้องสร้างความเข้าใจ ปัจจุบันศาลได้ผลักดันให้เกิดการประนีประนอม การเจรจาไกล่เกลี่ยมากขึ้น วิธีพิจารณาของศาลก็เปิดช่องเช่นนี้

“เป็นไปได้ไหมที่จะให้คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ที่มีข้อพิพาทกันได้สร้างความเข้าใจกันให้มากขึ้น เด็กมองว่าผู้ใหญ่ล้าหลัง ส่วนผู้ใหญ่ก็มองว่าเด็กล้มล้าง ต้องหาคนกลาง ความขัดแย้งลงถึงระดับครอบครัวจนคุยกันไม่ได้ เพราะอุดมการณ์ทางการเมือง อยากให้ใจเย็นมากขึ้น พูดด้วยเหตุผล ถ้าให้เกียรติผู้ใหญ่เขาก็ฟัง สังคมไทยผูกพันกันรุ่นสู่รุ่น ความกตัญญูเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่สายที่จะสร้างความเข้าใจได้” นายไสล กล่าว