หลังจากที่มีการเปิดเผยรายชื่อ ส.ส.เพื่อไทย 26 คน ที่ไม่ยอมขานมติใดในการโหวตวาระ 3 โดยมีนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. ,นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ ,นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม ,น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. ,นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. , นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม
ทั้งนี้เมื่อรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระ 3 ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องปรับแผนกันใหม่ทั้งหมด เพราะหากยังยังมุ่งเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.จะส่งผลให้กระบวนการแก้ไข จะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ และใช้เวลายาวนาน ซึ่งกว่าจะสามารถบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ อาจต้องรอหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จึงสามารถทำได้รวดเร็วกว่า
โดยทางท่าทีของทางด้านพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. เปิดเผยถึงแนวทางของพรรค โดยระบุว่าต้องเดินหน้าแก้ไขรายมาตรา “ผมได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยจะนำร่างแก้ไขรายมาตราเสนอต่อพรรค พปชร. พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเสนอได้ในสมัยการประชุมหน้า ซึ่งเป้าหมายในการแก้ไขจะต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน”
พร้อมกันนี้ ได้ระบุถึงประเด็นที่จะเสนอแก้ไข เช่น การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน การเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านและชุมชน ก็สามารถจัดหาทนายความมาให้การช่วยเหลือในทางคดี รวมถึงให้ส.ส.สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการได้ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ส.ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะจะถูกมองว่าแทรกแซง
ส่วนทางด้านฝั่งก้าวไกล-ก้าวหน้า เตรียมลุยปิดสวิตซ์ส.ว. โดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางพรรคก้าวไกล ระบุว่า จะมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยจะเน้นประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ยังมองว่าเรื่องที่สำคัญและต้องทำให้เร็วที่สุดคือการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า
ส่วนแนวทางของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไปเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) ระบุว่า เมื่อแก้ทั้งฉบับทำไม่ได้ เราจะรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรายมาตรา ปลดเสาค้ำยันอำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนด้วยการยกเลิก ส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ
“เราจะรณรงค์อย่างแข็งขันทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมรายชื่อจากประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อปรับดุลอำนาจในสังคมไทยเสียใหม่ เชิญชวนประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด มาร่วมกันสู้ตามระบบทุกวิถีทาง ให้สุดทุกทาง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าต้องการประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเทศไทยใต้ระบอบ คสช. พบกันในการรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั่วประเทศเร็ว ๆ นี้”
ส่วนทางด้านพรรคเพื่อไทย แม้จะมี ส.ส. ไม่ออกเสียงจำนวน 26 คน ซึ่งต้องยอมรับว่า ล้วนเป็นฝั่งที่สนิทกับ คุณหญิงสุดารัตน์ “เจ๊หน่อย” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยทั้งนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า การงดออกเสียงของ ส.ส. ทั้ง 26 คน จะยุติแนวทางของพรรคได้ โดยทางด้านพรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการนัดประชุมเพื่อมีข้อสรุป โดยแหล่งข่าวจากพรรค ยังเปิดเผยว่า เบื้องต้นหากจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคเพื่อไทยจะต้องหารือกันภายในก่อน โดยมีอยู่ประมาณ 4 ประเด็นที่พรรคต้องการแก้ไข ประกอบด้วย
1. การเเก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เพิ่มเติมมาตรา 159 โดยการเลือกนายกฯ สามารถเลือกนอกบัญชีได้ แต่ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น เพื่อปิดทางนายกฯ คนนอก 2.แก้ไขมาตรา 270 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายฯ
3. การยกเลิกมาตรา 279 รองรับคำสั่ง และการกระทำของ คสช.
และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งเพื่อไทยได้รับผลกระทบอย่างเต็ม ๆ จนทำให้พรรคไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้ยกเลิกมาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยใช้บัตร 2 ใบเลือกคน และเลือกพรรคแทน