เมียนมาเดือด?!?ผู้ชุมนุมสู้กลับฝ่ายทหาร ทำย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางสู้รบ สถานทูตไทยเตือน 6 เขตอันตราย สหรัฐรอจังหวะรัฐล้มเหลว?!

1998

“นครย่างกุ้ง” กลายเป็นเขตสู้รบ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศกฎอัยการศึกใน 6 พื้นที่ของย่างกุ้ง  เพื่อควบคุมการประท้วงต้านรัฐบาลกลาง ส่วนชาวบ้านและผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่พากันอพยพหนีตายกลับภูมิลำเนาบรรยากาศตึงเครียดมากและล่าสุดสถานทูตไทยในย่างกุ้ง ได้เตือนคนไทยไม่เข้าพื้นที่อันตรายเหล่านั้น

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ควันพวยพุ่งปกคลุมเหนือท้องฟ้านครย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดในเมียนมา ขณะนี้ได้กลายเป็นเขตสู้รบระหว่างกองกำลังรักษาความมั่นคงและกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมียนมา ในวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมเมียนมาได้จุดไฟเผาเครื่องกีดขวาง ขณะที่กำลังรักษาความมั่นคงเดินหน้าปราบปรามใช้ปืนยิงใส่ชาวเมียนมาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อบังคับใช้กฎอัยการศึก

ทางการเมียนมาได้ประกาศกฎอัยการศึกในเขตลานตายา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นได้มีการประกาศในอีกหลายแห่งที่เป็นพื้นที่ใหญ่ในการชุมนุม ส่งผลให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคำบัญชาการของกองทัพแรงงานเมียนมาและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างพากันอพยพข้าวของ หนีกลับภูมิลำเนา ทำให้บรรยากาศไม่ต่างจากภาวะสงคราม 

“เสียงปืนดังขึ้นตลอดทั้งคืน พวกเราไม่อาจข่มตานอนหลับลงได้” ชาวบ้านในพื้นที่บอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี และเหตุนี้สร้างความกังวลไม่กล้าออกไปเดินบนถนน เกรงตกเป็นเป้าของกองกำลังรักษาความมั่นคง ซึ่งภาพที่เห็นในปัจจุบัน ก็เป็นตามที่ชาวเมียนมาในพื้นที่บอกเล่ามีคนน้อยมากที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน

มีรายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงสายแข็งได้ตั้งแคมป์และบังเกอร์ บนสะพานที่มุ่งหน้าไปสู่ถนนสายหลักของเมืองในช่วงค่ำของวันอังคารที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา พวกเขาสวมหมวกกันน็อค ใส่หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา และถือโล่ป้องกัน นอกจากนี้ ยังได้สร้างเครื่องกีดขวางที่ทำจากยางรถยนต์ ไม้ไผ่ และกระสอบทราย

ทั้งนี้ ผู้ประท้วงได้จุดไฟเผาสิ่งกีดขวางบางส่วน ทำให้เกิดควันไฟพวยพุ่งเหนือถนนของเมือง ในระหว่างนี้ก็เกิดเหตุการณ์ปะทะเป็นระยะๆ โดยผู้ชุมนุมได้หลบอยู่หลังเครื่องกีดขวางที่สร้างขึ้นชั่วคราว และขว้างระเบิดขวดเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเอเอฟพีสามารถบันทึกวิดีโอที่เก็บภาพได้ว่า มีเสียงปืนยิงไม่หยุดนานต่อเนื่อง 15 นาที 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาได้ใช้มาตรการรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง ขณะนี้มีรายงานผู้ประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 200 คน โดยเฉพาะเหตุการณ์ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาเสียชีวิตจากการสลายชุมนุมกว่า 70 คน ในเขตอุตสาหกรรมลานตายาในย่างกุ้ง ซึ่งได้กลายเป็นเขตสู้รบปะทะกันรุนแรงกว่าเขตอื่นๆ

สถานการณ์ภายในเมียนมาตึงเครียดมากขึ้น ทำให้ “สถานทูตไทยในย่างกุ้ง” แนะคนไทยในเมียนมา หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุมที่มีการปะทะ 6 เขตใต้กฎอัยการศึก

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ติดต่อสอบถามความเป็นอยู่และติดตามกับชุมชนไทยอย่างใกล้ชิด ได้แนะนำคนไทยในเมียนมา ให้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารต่างๆ รวมทั้งแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุม (หากมีประเด็นปัญหาหรือเหตุฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน +95 9797002801 ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง)

ขณะนี้ ได้มีการประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) ใน 6 เขตของกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากเป็นฮอตสปอตที่มีการชุมนุม ได้แก่

  1. ลายตายา (Hlaing Tharyar) 
  2. เชวปยีตา (Shwe Pyi Thar) 
  3. เซาท์ดากอง (South Dagon) 
  4. นอร์ทดากอง (North Dagon) 
  5. ดากองเสกกาน (Dagon Seikkan) 
  6. นอร์ทโอกาลาปา (North Oakkalapa)      

ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯได้แจ้งให้คนไทยในเมียนมาทราบแล้ว 

ความรุนแรงตึงเครียดขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่และมากที่สุดในย่างกุ้ง กองทัพเมียนมายังใช้ยุทธวิธีปราบปรามผู้ประท้วงแบบเด็ดขาด ล่าสุดผู้ประท้วงคิดวิธีการ “ประท้วงแบบไร้ผู้ประท้วง” ตั้งป้ายบนถนนแทนคนในบางจุดที่มีการปะทะกันอย่างหนัก เพื่อลดการสูญเสียเลือดเนื้อ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ชาวเมียนมาบางส่วนหันมาประท้วงแบบ “ไร้ผู้ประท้วง” มีการนำป้ายข้อความต่อต้านรัฐประหารไปวางเรียงกันตามพื้นถนน บริเวณใกล้กับสะพานอองเซยา ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตอินเล กับเขตไลง์ตายา

การประท้วงแบบไร้คน มีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่เพิ่งยกกำลังไปปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงด้วยกระสุนจริง ระเบิดเพลิง และแก๊สน้ำตา ในเขตอินเล และไลง์ตายา และเมื่อวันอังคารที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นของเมียนมา ว่ามีคนถูกยิงบนราวสะพานเสียชีวิต 2 ศพ ก่อนที่ทหารจะโยนศพลงไปในแม่น้ำไลง์ สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์ myanmar-now.org รายงาน คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw ) หรือ CRPH ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ย.63 ซึ่งถือเป็น “รัฐบาลคู่ขนาน” กับรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ประกาศเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ถอนชื่อองค์กรติดอาวุธทางชาติพันธ์ุ (Ethic Armed Organisations) หรือ EAOs ทั้งหมดในประเทศเมียนมา จากบัญชีรายชื่อองค์กรที่ผิดกฎหมายและองค์กรก่อการร้ายแล้ว หลังตีตรากองทัพพม่า นำโดย มิน อ่อง หล่าย เป็นองค์กรก่อการร้ายแทนตั้งแต่ 1 มี.ค.64

สถานการณ์ข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นแน่ จากความไม่สงบทางการเมือง ที่นำไปสู่ความรุนแรงเสียเลือดเนื้อของชาวเมียนมาส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค องค์การอาหารโลกของสหประชาชาติ ได้แถลงเตือนแต่ก็ไม่ได้เสนอทางแก้ไขแต่อย่างใด? 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โครงการอาหารโลกของUN (WFP:United Nations World Food Programme) กล่าวว่าราคาสินค้าหลักในรัฐยะไข่ทางตอนเหนือ “มีการปรับขึ้นสูง” โดยราคาน้ำมันปรุงอาหารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 27% ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 

ราคาสินค้าในตลาดหม่องดอ(ตลาดกลาง)เพิ่มขึ้น 15% ในขณะที่ราคาข้าวพุ่งสูงถึง 35% ในบางเมืองในรัฐคะฉิ่นเช่น Bhamo และ Putao ทั่วประเทศราคาข้าวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3% และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 15% ทั่วประเทศซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นราคาอาหารต่อไปเนื่องจากค่าขนส่งพุ่งขึ้น  ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในภาคเหนือของยะไข่ ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 33% และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 29%

WFP รวบรวมข้อมูลจากผู้ค้า 250 รายและร้านค้าใน 70 เมืองทั่วประเทศ WFP ระบุในแถลงการณ์ว่า “ราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้ประกอบไปด้วยภาวะอัมพาตของภาคธนาคารการชะลอตัวของการส่งเงินและการ จำกัด ปริมาณเงินสดที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง” 

สตีเฟน แอนเดอร์สันผู้อำนวยการประจำประเทศเมียนมาของWFPกล่าวว่าการขึ้นราคาสินค้านั้น“น่าหนักใจ” “นอกจากการระบาดของ COVID-19 แล้ว การประท้วงต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาอาหารที่สูงขึ้นยังคงดำเนินต่อไป สิ่งนี้จะบั่นทอนความสามารถของผู้ที่ยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุดในการจัดหาอาหารให้เพียงพอสำหรับครอบครัวอย่างรุนแรง”

 

WFP กำลังกักตุนอาหารเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้คนกว่า 360,000 คนในเมียนมาซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ

เศรษฐกิจหลายส่วนของเมียนมาร์ต้องหยุดชะงักจากการนัดประท้วงหยุดงานในระหว่างการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลกลางครั้งใหญ่ การค้าต่างประเทศในช่วงแรกยังดำเนินเป็นปกติ จนเกิดการวางเพลิง ปล้นทรัพย์โรงงานจีน และต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากอยู่ในย่างกุ้ง และธนาคารหลายแห่งต้องปิดสาขาลงเนื่องจากพนักงานเข้าร่วมประท้วงรัฐบาล

เห็นได้ชัดว่า เมื่อเกิดความแตกแยก ขัดแย้งรุนแรง นำไปสู่การสู้รบและสงคราม ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ประชาชนคนธรรมดา ที่อาจไม่ได้รู้เห็นเข้าร่วมการต่อสู้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศ ให้เป็นไปตามผู้นำฝั่งตรงข้ามรัฐบาลกลางและชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาต้องการ ประชาชนเมียนมาต้องการให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการจัดสรรผลประโยชน์ภายในประเทศจริงหรือ? หรือทั้งหมดที่เราเห็นนี้คือ ฉากการแทรกแซงอย่างเป็นขั้นตอน ที่มหาอำนาจตะวันตกเตรียมการมานานและระเบิดขึ้นเมื่อผู้นำผลประโยชน์แตกหัก และฉากสงครามประชาชนปฏิวัติเช่นนี้ก็พยายามผลักดันให้เกิดในประเทศไทยเช่นกัน แล้วคนไทย-รัฐบาลไทยจะรับมือสถานการณ์ร้อนนี้อย่างไร ต้องจับตาผลกระทบที่ชายแดน และการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงไทยและเมียนมา อย่าได้กระพริบตา!!