เปิดลึกปัญหาบางกลอย ความจริงอีกด้านจากช่างภาพผู้ถวายงานฯ มีทำลายป่า?

3734

จากประเด็น เรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งนับตั้งแต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มอพยพกลับในจุดที่เรียกว่าบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน อยู่ในป่าแก่งกระจาน แล้วเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้ชาวบ้านกลับมา นั้น

 

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 กลุ่มพีมูฟ หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ ภาคีเซฟบางกลอย ได้มีการจัดกิจกรรม #Saveบางกลอย ในหัวข้อ “เมื่อประชาชนอยากแก้รัฐธรรมนูญ” โดยมีคนทยอยเดินทางเข้าร่วมโดยนั่งจับกลุ่มบริเวณผิวจราจรถนนพระรามที่ 5 สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล และมีกลุ่ม “คณะราษดรัม” ตีกลองเปิดกิจกรรม มีเยาวชนกลุ่ม “เด็มโฮป” หรือประชาธิปไตยเพื่อความหวัง และ “เฟมินิสต์ปลดแอก” ร่วมร้องเพลง “รำกลองยาว” ซึ่งในครั้งนี้ นางสาวชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ เฌอเอม อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020 ได้เข้าร่วมและมีการกล่าวปราศรัยด้วย

ขณะที่ ยังมีการเคลื่อนไหวอีกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 โดยที่บริเวณถนนพระราม 5 แยกพาณิชยการ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ​ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย พร้อมด้วยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และกลุ่มเดินทะลุฟ้า ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างสันติอหิงสา เพื่อย้ำถึง 4 ข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลโดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนจากบริเวณถนนพระราม 5 เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ​ ข้ามมายังบริเวณหน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมอ่านแถลงการณ์จากหัวใจคนใจแผ่นดิน โดยยืนยันถึง 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่เป็นกลาง เพื่อพิสูจน์สิทธิชาวบางกลอยว่ามีสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ และถ้าพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านมีสิทธิ์ต้องได้รับการคืนสิทธิ์ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากที่นายกฯ ลงนาม

ข้อเรียกร้องที่ 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ต้องเปิดประชุมคณะกรรมการพีมูฟ อย่างเร่งด่วน 3.ให้นำผลการประชุมและคำสั่งแต่งตั้งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันพรุ่งนี้เท่านั้น และต้องมีแนวทางรับประกันการแก้ปัญหา และ 4.ให้ชะลอการส่งสำนวนคดีของชาวบ้านบางกลอย จนกว่าได้ข้อยุติทั้งหมด

โดยในวันดังกล่าวตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการโกนศีรษะของชาวบางกลอย จำนวน 4 คน พร้อมทั้งมีการล่ามโซ่ แสดงสัญลักษณ์ว่าถูกจองจำอีกด้วย

ทั้งนี้ นอกจากม็อบออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และประกาศข้อเรียกร้องต่าง ๆ ให้ชาวบางกลอยแล้วนั้น ยังพบว่ามีกลุ่มคนที่สนับสนุนออกมาเคลื่อนไหวทางโซเชียลฯ ด้วย เช่นกรณีของ กรณี รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กรรมการสมาคมนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสยาม และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกมาทวิตข้อความในเชิงสนับสนุนพฤติกรรมของชาวบางกลอย

เรื่องนี้เอง ล่าสุดทางด้าน นายนภันต์ เสวิกุล ผู้บันทึกย่างพระบาทที่ยาตรา ช่างภาพผู้ถวายงานการบันทึกภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงปัญหาบางกลอยว่า ชั่วชีวิตของคนเมืองอย่างผม ก็ได้เห็นการบุกรุกทำลายป่ามาไม่น้อย ทั้งจาก “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ทั้ง “รู้มาก” และ “จงใจ” รวมทั้งเคยมีประสบการณ์และความรู้จากที่ได้เห็นวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ ทั้งอย่าง “ขอไปที” และ “อย่างชาญฉลาด ได้ผลที่สุด”

 

ปัญหาเรื่อง “เขตอุทยานฯ ครอบที่และชุมชนชาวบ้านที่อยู่มาก่อน” ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใหญ่กว่านี้ก็ยังครอบมาแล้ว วังน้ำเขียวทั้งอำเภอนั่นไง นั่นก็ใช่ ครอบแค่ชุมชน? เยอะแยะ ดูชุมชนชาติพันธุ์ที่ดอยลาง อช.ผ้าห่มปกนั่นประไร นั่นก็ถูกอพยพมาข้างล่าง แต่อนุญาตให้กลับขึ้นไปที่เดิมก็ได้แต่หน้านา อยู่เฝ้านาได้จนเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็ต้องกลับลงมาอยู่ข้างล่าง เกิดข้อขัดแย้งจนถึงฆ่าฟันกันหมกถัง นั่งยาง?? ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ป่าแก่งกระจานมันเกิดขึ้นทั่วทุกแห่งในประเทศนี้ ตราบเท่าที่ยังมีผู้รู้มาก โลภ เลว และ มักได้

กรณีชาวบ้านบางกลอยที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ผมมาติดตามข่าวเอาเมื่อเขาฮือฮา กลายเป็นการประท้วงและเป็นโศกนาฏกรรมไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเกมการเมืองที่ “ให้ตาย ชาวบ้านก็ไม่มีทางชนะ” (นี่ผมเข้าข้างชาวบ้านนะ)​ 1.ชาวบ้านไปเดินตาม NGO ที่มีผู้ “รู้ทัน” เยอะ 2.ชาวบ้านมาประท้วง และเดินตามกลุ่มที่ชูสามนิ้ว (หรือเทือก ๆ นั้น) ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเขาไม่เอาด้วย 3.ข้อเรียกร้องของชาวบางกลอย เว่อร์วังอลังการณ์ เช่นขอที่ดิน 15 ไร่ หมุนเวียนทุกรอบเท่านั้นเท่านี้ปี (แลัวก็ออกตัวไว้ก่อนว่า “ไม่ต้องให้สิทธิดังกล่าวนี้กับชาติพันธุ์เผ่าอื่น ๆ “) ผมแค่คนไทยเต็มขั้นคนหนึ่งยังอยากถามเลย ว่า “คิดว่าตัวเองเป็นใคร?”​

กลับไปค่อย ๆ พิจารณาอีกทีว่า ไปกินหัวใจหมีดีมังกรมาจากไหนถึงได้เรียกร้องเอานั่นเอานี่ (ไอ้ที่เขาให้ก็ไม่เอา) อ้อ ​นอกจาก NGO และ PMove แล้ว ยังมีกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รายสุดท้ายนี่อาจจะเป็นผู้ถีบชาวบ้านให้ออกมายืนเด่นอยู่แถวหน้าด้วยซ้ำ (ตามความถนัดของพรรค)

ผมฟังคุณอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.พรรคก้าวไกล ประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดอยู่ครึ่งชั่วโมง อพิโธ่เอ๋ย ตัวเองก็ไม่ได้รู้อะไรนักหนาได้แต่เอ่ยวาจาเป็นแผ่นเสียงตกร่อง “ต้องคำนึงถึงสิทธิของชาวบ้านบางกลอย”  “ทุก ๆ ฝ่าย (พูดประมาณ 50 ครั้ง) ต้องหาข้อยุติและสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของชาวบ้านบางกลอย เพื่อที่ต่อไปจะได้เป็นต้นแบบในการปฏิบัติต่อชุมชนชาติพันธุ์อีก สามพันกว่าชุมชน”

ฟังปุ๊บ ต่อได้เป็นฉากเลย เพราะมันประสานกับช่วงหาเสียงที่ภาคใต้ของพรรคเดิมของพรรคที่คุณอภิชาติสังกัดอยู่ ที่จะสนับสนุนให้สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ ​และ “กี่สิบปีแล้วที่ชาวเขาในภาคเหนือไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ทำกิน ถ้าพรรคได้รับเลือกจะออกโฉนดให้ทุกชุมชุน ทุกหมู่บ้าน” บรา บรา บรา

ผมเข้าข้างชาวบ้านบางกลอยนะครับ ให้ได้รับทางออกที่ดีที่สุด แต่พูดจาดี ๆ กับรัฐเถอะ และอย่าไปเดินตามใคร ทุกกลุ่มที่จูงชาวบ้านเดินตามอยู่นั้นทั้งลาย ทั้งหาง เพ่นพ่านไปหมด

อย่างไรก็ตาม จากโพสต์ของ นายนภันต์ เสวิกุล ได้โพสต์แสดงความเห็นอธิบาย และสะท้อนปัญหาบางกลอย พร้อมแนะชาวบ้านอย่าเดินตามม็อบนิ้ว หรือใครก็ตามที่กำลังเข้าไปแทรกแซง ก็จะเห็นทางออกของปัญหา