จบแล้วแก้ไขรธน. มติรัฐสภา โหวตคว่ำวาระ 3 แกะรอยเบื้องหลัง “ฝ่ายค้าน” ดึงดันค้านลงประชามติ ได้เสียงจากส.ว.แค่ 2 คน?

2690

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา นานกว่า 10 ชั่วโมง ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งผลการลงมติวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. แก้ไขเพิ่มเติม ม.256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ด้วยการขานชื่อสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 737 คน ซึ่งผลปรากฏว่า มี ส.ส.เห็นชอบ 206 ส.ว. 2 รวมเป็น 208 เสียง ไม่เห็นชอบ ส.ส. ไม่มี ส.ว. 4 คน รวม 4 เสียง

งดออกเสียง ส.ส.10 ส.ว 84 รวม 94 เสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนน ส.ส.9 ส.ว.127 รวม 136 เสียง ดังนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา หรือ 369 เสียง ที่ประชุมจึงมีมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่.. พ.ศ… มาตรา 256 เพิ่มเติมมาตรา 15/1 ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

จากนั้นนายพรเพชร สั่งปิดประชุม และนัดให้สมาชิกมาประชุม 09.30 น. วันที่ 18 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ… ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.. และร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ… ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดฉบับที่…พ.ศ…

ทั้งนี้ สำหรับการออกเสียงลงมติวาระสาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลปรากฏว่า ส.ว. 250 คน เสียงส่วนใหญ่ ออกเสียงไม่ลงคะแนนและงดออกเสียง ทั้งนี้มี 2 ส.ว.คือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และนายพิศาล มาณวพัฒน์ เป็น ส.ว.ที่ลงมติเห็นชอบ

ขณะที่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว., นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว., นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา ส.ว. และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ลงมติไม่เห็นชอบ

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดว่า การออกเสียงวาระ 3 ต้องได้เสียงเห็นชอบจากวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 250 เสียง แต่การออกเสียงดังกล่าวได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบ

และระหว่างการขานชื่อลงคะแนนเป็นรายบุคคล นอกจาก ส.ส.ภูมิใจไทย ที่วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมหมดแล้ว ในส่วนของส.ว.หลายคนก็ไม่ได้อยู่ร่วมโหวตในห้องประชุมด้วย หรือคนที่อยู่ในห้องประชุม จะใช้วิธีขานงดออกเสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ ส.ส.พลังประชารัฐหลายคนก็ใช้วิธีไม่อยู่ร่วมโหวตในห้องประชุมเช่นกัน เพราะแถลงจุดยืนชัดเจนก่อนแล้วว่า จะไม่ร่วมโหวตวาระ 3 มีเพียงแต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่ขานชื่อเห็นชอบกับการลงมติให้แก้รัฐธรรมนูญวาระ 3

อย่างไรก็ตามมี ส.ส.เพื่อไทย หลายคนที่เป็นกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เช่น นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม ถึงจะอยู่ในห้องประชุม แต่ใช้วิธีเงียบ ไม่ยอมขานลงคะแนนอะไรเลย เนื่องจาก ส.ว. และ ส.ส.หลายคน เกรงจะมีความผิด กรณีไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับการโหวตวาระ 3 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้แล้วว่า ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่แรก เพราะคำวินิจฉัยชัดเจน แม้ว่าจะมีส.ส.ฝ่ายค้าน ดึงดันว่า สามารถโหวตได้ และไม่ต้องการทำประชามติ

ดังนั้นคำวินิจฉัยจของศาลฯ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จึงชัดเจนและเข้าใจได้ว่า แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการ และเนื้อหา

รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๕ “เพียงบัญญัติให้ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น”

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ “ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ”

ดังนั้นชัดเจนว่า รัฐสภา มี “อำนาจหน้าที่” แค่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เท่านั้น หากรัฐสภาอยากเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องถามประชาชนก่อนว่าจะยอมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?
ถ้าประชาชนยอม โดยผ่านการโหวตประชามติ รัฐสภาจึงจะมีอำนาจหน้าที่จัดทำใหม่ทั้งฉบับได้ ทั้งนี้สิ่งที่ ส.ส.-ส.ว. ทำกันอยู่ในรัฐสภา ที่พยายามจะผลักดันวาระ 3 ถือว่าผิด เพราะไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ทำได้เพียงแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราเท่านั้น