นับเป็นข่าวดีต่อภาพรวมของประเทศอย่างมาก เมื่อนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทน์โอชา นำทีมคณะรัฐมนตรีบางส่วนเข้ารับวัคซีนต้านโควิด เพราะไม่เพียงสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไทยในการรับวัคซีน แต่ยังรวมถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเอกชนในการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลข ณ วันที่ 16 มี.ค.2564 ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 149 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 27,154 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 87 ราย ท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศที่ยังมีความกังวล โดยเฉพาะประเด็นการแพร่เชื้อในตลาดสด โดยระหว่างวันที่ 7 – 13 มี.ค.2564 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อบริเวณตลาดในพื้นที่เขตบางแค กทม.จำนวนมาก กระทรวงมหาดไทยต้องสั่งล่าสุดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รวม กทม. ควบคุมปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด
ในวันเดียวกันบิ๊กตู่ได้นำคณะรัฐมนตรีบางส่วน เข้ารับวัคซีนโควิด โดยมีนายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ นับเป็นข่าวดีต่อภาพรวมของประเทศ หลังจากมีการเลื่อนกำหนดการเดิม จากเมื่อวันศุกร์มาเป็นเมื่อวานนี้ มีกระแสตอบรับเป็นบวกมาก ล่าสุด การบินไทย ขอก่อนใครเลยว่า ขอรัฐบาลสนับสนุนฉีกนักบินและลูกเรือด้วย เพราะเป็นด่านแรกต้องเจอนักท่องเที่ยว ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
การกระจายวัคซีนให้มากและเร็วขึ้นเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งผู้นำประเทศแสดงความกล้าหาญในการรับวัคซีน ไม่เพียงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการรับวัคซีนซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลไปยังความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเอกชนในการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวทันที
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมแน่นอน พร้อมทั้งแย้มว่า สายการบินหลายแห่งถูกจับจองเที่ยวบินเต็มทุกเที่ยวบินในช่วงเทศสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้ นับเป็นข่าวดีเรียกความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและการดำเนินธุรกิจของคนไทยด้วย
นอกจากนี้จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงการคลังจะขอติดตามสถานการณ์และดัชนีเศรษฐกิจที่คาดแนวโน้มว่าน่าจะเงยหัวขึ้น ก่อนจะตัดสินใจในการออกมาตรการฟื้นฟูต่อเนื่องเพิ่มเติม เมื่อวัคซีนมีมากพอ ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้
จากวัคซีนโควิด ที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้น ยังมีวัคซีนพาสปอร์ต ที่เป็นสัญลักษณ์ทางสากลอย่างหนึ่งที่ใช้แสดงตัวตนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกได้
ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นฐานะประธานศบค.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบดำเนินมาตรการออก “วัคซีนพาสปอร์ต” ให้เร็วที่สุดภายในเดือน มี.ค.2564 หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วโดย
นักท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์ได้วัคซีนพาสปอร์ตจะไม่ต้องกักตัว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคน และคาดว่าในจำนวน 8 ล้านคน จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยมากกว่า 2 ล้านคน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนท่องเที่ยว ต้องการให้เกิดโดยเร็ว ยิ่งช้าไทยจะยิ่งสูญเสียตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งขณะนี้คนจีนมีความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศไทย เพราะเห็นว่าปลอดภัย
สำหรับวัคซีนพาสปอร์ตต้องรอการดำเนินการและได้รับการอนุมัติ แต่การบินไทยออกตัวรุกเร็วเลยไม่รอ ได้ยื่นขอรัฐบาลขอฉีดวัคซีนให้แก่นักบินและลูกเรือที่ต้องเป็นด่านหน้าพบนักท่องเที่ยว ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเร่งเปิดทำการในช่วงพีค ท่องเที่ยวสงกรานต์ เดือนเมษยนที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งการบินไทยประเมินว่าจะทำให้ มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 20% ซึ่งไปสอดคล้องกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคมฯซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจรัฐบาลบอกว่า สงกรานต์นี้ยอดจองเต็มทุกสายการบินด้วย และนี่ก็เป็นสัญญาณบวก สะท้อนว่าการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัว แน่นอน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชการ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า “เราได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งตอนนี้เข้าใจดีว่าอยู่ในช่วง ฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทางการแพทย์ หรืออสม.ต่างๆ ซึ่งเราพร้อมรอคิด แต่เราขอคิวจากรัฐบาลเพื่อเตรียมรับการท่องเที่ยว ซึ่งนักบินและลูกเรือเป็นด่านหน้าต้องเจอกับนักท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้เราจะมีมาตรการป้องกัน แต่ก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารด้วย
อีกด้านคือ การบินไทยประเมินว่าในอีกภายใน 2 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินโดยรวมจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ปัจจุบันผู้โดยสารของการบินไทยมีอยู่ 10% จะกลับมาอยู่ในสัดส่วน 40-50% โดยจะเริ่มมีการเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นปกติภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้นายชาญศิลป์ฯ ได้เปิดเผยถึงการร่วมมือกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า (IATA) โดยการบินไทยและบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เข้าร่วมโครงการนำร่อง International Air Transport Association Travel Pass ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทาง ให้สามารถบริหารจัดการเอกสารการรับรองการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
หน่วยงานภาครัฐทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเอกสารดังกล่าว เพราะยังไม่มีการออกรูปแบบพาสปอร์ตวัคซีนอย่างเป็นทางการ การรับรองเอกสารทางสุขอนามัย การฉีดวัคซีนกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศแบบไร้การสัมผัส เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิง และIATA Travel Pass มีศักยภาพด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และการรับรองผลตรวจโควิดและการับวัคซีนอย่างน่าเชื่อถือด้วย
การบินไทยและไทยสมายล์เข้าร่วมใช้แอปฯดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเชื่อมันแก่ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวกับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งในปรเทศไทยและทั่วโลกด้วย
นอกจากนี้การบินไทยจะได้จัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อรองรับคนไทยกลับบ้านในเดือนมีนาคมนี้ 13 เส้นทางบินประกอบด้วย
-เส้นทางเอเชีย ได้แก่ ไป-กลับ กรุงเทพ-โตเกียว(นาริตะ)
-เส้นทางยุโรป ได้แก่ ไป-กลับ กรุงเทพ-ลอนดอน, กรุงเทพ-ปารีส, กรุงเทพ-แฟรงค์เฟิร์ต, กรุงเทพ-สตอกโฮล์ม
สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางกลับมากับการบินไทยจะต้องเข้ารับการกักตัว ตามมาตรการของภาครัฐอย่างเข้มงวดทุกเที่ยวบิน และการบินไทยจะฉีดพ้นสเปร์ฆ่าเชื้อโรค และทำความสะอาดแบบ Deep Cleaning ในอากาศยานทุกลำเมื่อเครื่องลงจอด