พังยับทั้งระบบ!! “รศ.สังศิต” ทวงถามธรรมาภิบาล ในกระบวนการยุติธรรม กรณีวินิจฉัยคดีกปปส.?

2442

หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ.64 ที่ศาลอาญา ได้มีคำสั่งปล่อยตัว 8 แกนนำกปปส. โดยทางด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทีมทนายความกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังขึ้นฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในกรณีที่ทางทนายขอยื่นประกันตัวชั่วคราวกับนายสุเทพ และพวกแกนนำ กปปส.รวม 8 คน

ซึ่งศาลมีคำสั่งพิจารณา ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 8 คนได้ เพราะที่ผ่านมาในศาลชั้นต้น จำเลยทุกคนไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและเคยได้รับการประกันตัวซึ่งเงื่อนไขที่เพิ่มเติม คือราคาประกัน ที่เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 บาท และห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากที่ศาลชั้นต้นตีราคาประกัน 600,000 บาท

ล่าสุดรศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกมธ.การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความเรื่อง “ธรรมาภิบาลในกระบวนการยุติธรรม” พร้อมระบุดังนี้

ข่าวที่ศาลอาญาชั้นต้นส่งไม้ต่อให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยแทนว่าจะให้ประกันบรรดาแกนนำกปปส.หรือไม่ ทำให้บรรดาแกนนำกปปส.ต้องติดอยู่ในเรือนจำ 2 วัน 3 คืน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัวพวกเขาทั้งหมดออกมา แต่การใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นข้างต้นทำให้แกนนำจำนวนหนึ่งที่เป็นรัฐมนตรีและเป็นส.ส.เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาคือพวกเขายังคงมีสถานะเป็นส.ส.อยู่หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ? ปัญหาที่ไม่ควรเป็นปัญหาเลยในกรณีนี้ทำให้แกนนำเหล่านี้ต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นส.ส.ของพวกเขา เพราะเหตุว่ากกต.เห็นว่าแกนนำเหล่านี้ถูกจำคุกแล้ว จึงต้องพ้นจากความเป็นส.ส.ไปตามรัฐธรรมนูญ

ผมใคร่ตั้งคำถามว่าการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาชั้นต้นในกรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลของตัวผู้พิพากษาท่านนี้หรือไม่? หรือแท้ที่จริงแล้วเป็นการสะท้อนปัญหาธรรมาภิบาลในลักษณะทั่วไปของระบบศาลทั้งหมด?

ในช่วงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา มีการต่อสู้ทางความคิดระหว่างหลักคิดเรื่องการมีรัฐบาลที่ดี (good government) กับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (good governance )ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน และความสัมพันธ์ระหว่างการมีรัฐบาลที่ดีกับการมีธรรมาภิบาลควรเป็นอย่างยิ่ง?

เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา โลกตะวันตกได้ข้อยุติว่าการมีธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญกว่าการมีรัฐบาลที่ดี พูดอีกอย่างหนึ่งคือ good governance จะทำให้เกิด good government ได้ง่ายกว่า การที่ good government จะทำให้เกิด good governance แต่สำหรับผมแล้วมองว่า good governance กับ good government มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (interaction) หรือต่างก็สามารถกำหนดกันและกันได้ นั่นคือระบอบการปกครองที่ดีสามารถสร้างรัฐบาลที่ดีขึ้นได้ และในทางกลับกันรัฐบาลที่ดีก็สามารถสร้างระบอบการปกครองที่ดีขึ้นได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าเงื่อนไขแบบหลังนั้นจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าเงื่อนไขแบบแรกก็ตาม

หลักการของธรรมาภิบาลที่นำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินของแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจการเมือง ความเชื่อเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและจิตสำนึกของสังคม ตลอดจนถึงความตื่นตัวทางการเมืองและความรู้สึกรับผิดชอบในฐานะความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ด้วย

สำหรับผมแล้วหลักการของธรรมาภิบาลที่สำคัญ ๆ สำหรับรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของไทย อย่างน้อยที่สุดที่ต้องมีคือ หลักการที่ว่าด้วยการควบคุมคอรัปชั่น (corruption control) หลักการที่ว่าด้วยการรับผิดรับชอบต่อหน้าที่ (accountability) หลักการที่ว่าด้วยความโปร่งใส (transparency) ในการทำงาน และหลักการที่ว่าด้วยการทำงานที่ต้องมีความสัมฤทธิ์ผลได้จริง (outcomes)

ในช่วงที่ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นประชาธิปไตยมาก แต่โชคร้ายที่เรากลับมีรัฐบาลทักษิณที่ถูกออกแบบจากรัฐธรรมนูญให้มีความเข้มแข็งและมีอำนาจมากที่สุด ยิ่งกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกชุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย และกลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่คอรัปชั่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน ข่มเหงรังแกผู้ที่เห็นต่างมากที่สุด ที่สำคัญที่สุดคือมีการบังคับใช้กลไกรัฐและสถาบันในกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือของตัวเองในการลงโทษผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล ส่งผลให้ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงที่สุด

นับตั้งแต่มีการปฏิรูประบบราชการให้เป็นแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ระบบตำรวจ อัยการศาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมมีระบบการตรวจสอบทั้งจากองค์กรภายในและองค์กรภายนอก ตลอดจนการตรวจสอบจากภาคประชาชนทางด้านความโปร่งใสในการทำงาน ความรับผิดรับชอบในหน้าที่ การควบคุมการคอรัปชั่นในสถาบัน ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเรื่องการทำหน้าที่น้อยมาก รวมถึงการออกแบบระบบการติดตามเพื่อตรวจสอบและประเมินผลเรื่องการใช้ดุลพินิจของบุคคลที่มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด กล่าวได้ว่าตราบจนกระทั่งถึงในขณะนี้แทบไม่เคยปรากฎให้เห็น ด้วยเหตุนี้การใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตลอดเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมาน่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประชาชนมิใช่น้อยทีเดียว

ผมไม่คิดว่ากรณีของแกนนำกปปส.ที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ และขอให้ศาลชั้นอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยแทน จนกระทั่งพวกเขาต้องรอการประกันตัวอยู่ถึง 3 วันนั้นจะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ 3 กกต.ที่ถูกศาลอาญาตัดสินว่ามีการกระทำที่ทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการช่วยเหลือพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง ปี 2549 และไม่อนุญาตให้ประกันตัวจึงทำให้ 3 กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งไปทันที เช่นเดียวกันกับที่ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของอดีต ส.ส. จังหวัดขอนแก่น พรรคเพื่อไทยที่ถูกศาลตัดสินในปี 2562 ให้ประหารชีวิตและไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากศาลเกรงว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมที่เป็นผู้มีอิทธิพลและอาจหลบหนีได้ หากได้รับการประกันตัวออกไป

แตกต่างจากสองกรณีข้างต้น แกนนำกปปส.ตกเป็นจำเลยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กล่าวหาพวกเขาว่าเป็นขบถ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อความไม่สงบและอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งคนละประมาณ 50 คดี แต่พวกเขาน้อมรับการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกคดีโดยไม่เคยปริปากและยังคงใช้ชีวิตตามวิถีของพวกเขาต่อไป ที่สำคัญคือพวกเขายืนยันต่อสาธารณชนว่าจะไม่มีการหลบหนีออกนอกประเทศเหมือนคุณทักษิณ

ผลต่อเนื่องจากการต่อต้านและเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือคณะรัฐมนตรีชุดยิ่งลักษณ์และผู้ใกล้ชิดกว่า 10 คนได้ถูกศาลตัดสินให้จำคุกด้วยข้อหาทุจริตไปแล้วโดยเฉพาะคุณยิ่งลักษณ์ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริตได้หลบหนีออกนอกประเทศไปโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอาตัวมาลงโทษตามกฎหมายได้

เพราะเหตุแห่งความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ผู้ทุจริตรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคือทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ สามารถหลบหนีไปเสวยสุขอยู่ต่างประเทศ โดยไม่ต้องชดใช้การกระทำความผิดตามกฎหมายที่พวกเขาก่อขึ้น และยังได้ทิ้งปัญหาหนี้สินขนาดมหึมาให้รัฐบาลชุดปัจจุบันและประชาชนต้องช่วยกันแบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้แทน นอกจากนี้พี่น้องคู่นี้ยังทิ้งความขัดแย้งทางการเมืองและคดีความต่าง ๆ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและสังคมไทยต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งไปแทน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ควรดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ตำรวจ ปปง.ดีเอสไอ อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์และทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดระบบการบริหารบ้านเมืองที่ดี โดยให้ความสําคัญในเรื่องผลสัมฤทธิ์ในการทำงานของหน่วยงานหรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำหน้าที่ การรับผิดรับชอบต่อหน้าที่ การควบคุมคอรัปชั่น ความโปร่งใสและการใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

สำหรับผมแล้ว การปฏิรูปไม่ใช่การเอาอกเอาใจข้าราชการ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนนายพลตำรวจอย่างที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องการอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนหน่วยงานให้มากขึ้น ไม่ใช่การทำงานบนกระดาษตามที่ข้าราชการเสนอขึ้นมา และการปฏิรูปไม่ใช่การทำงานเชิงเทคนิคหรือการทำงานที่เป็นกิจวัตรประจำวันของข้าราชการ

แต่การปฏิรูปคือการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ของประเทศ การปฏิรูปคือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ชาติไทยได้ก้าวออกไปอยู่ในระดับเดียวกันกับนานาอารยะประเทศ การปฏิรูปคือการรื้อถอน(deconstruction) โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ สังคมการเมืองและวัฒนธรรมที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการกินดีอยู่ดีของคนส่วนใหญ่ในประเทศ การปฏิรูปคือการสร้าง(construction) ระบบและโครงสร้างใหม่ของสังคม เพื่อประโยชน์-สุขของประชาชน การปฏิรูปคือยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก การปฏิรูปคือการแก้ปัญหาสำคัญๆที่เป็นปัญหารากฐานของประเทศและประชาชน การปฏิรูปคือการปลดปล่อยพลังทางการผลิตและการค้าบริการของสังคมให้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว การปฏิรูปคือการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติและความรู้สึกภาคภูมิใจของคนในประเทศ

การปฏิรูปคือการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของผู้คนที่แตกต่างกันในชาติพันธุ์ วิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อทางศาสนาและทางการเมือง การปฏิรูปคือการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและโอกาสทางสังคมให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น และการปฏิรูปคือการทำกิโยตีนกฎหมาย ระเบียบและกฎอัยการศึกจำนวนมากมายมหาศาลให้แก่ผู้คนในประเทศนี้

ผมเห็นว่าเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพียงเรื่องเดียว ในทางทฤษฎีเราน่าจะลดจำนวนนักโทษคดียาเสพติดลงได้ราวร้อยละ70-80 ของจำนวนนักโทษทั้งหมดในคุกต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มีเกือบ 4 แสนคน ในระยะยาวเราจะสามารถลดจำนวนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมลงไปได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ตามแนวทางนี้รัฐบาลจะสามารถลดงบประมาณด้านบุคลากรและอื่น ๆ ลงไปได้หลายแสนล้านบาทต่อปี

ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณด้านการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอีกมาก กำลังคนจำนวน 2-3 แสนคนที่ไม่เคยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น (value added) ให้แก่ระบบเศรษฐกิจจะถูกโอนไปสู่ภาคการผลิต การค้าและบริการมากขึ้น เป็นการเพิ่มจำนวนการจ้างแรงงาน การเพิ่มอาชีพ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (productivity) และการสร้างมูลค่าเพิ่มของสังคมโดยรวม ตลอดจนสามารถสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่กำลังซื้อของตลาดในประเทศ (domestic market) ซึ่งเป็นเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจที่พึงปรารถนา ผมเชื่อมั่นว่าเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพียงเรื่องเดียว เราสามารถสร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเงินนับล้านล้านบาทต่อปี

คำถามคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะยืนลังเลอยู่บนหน้าผาต่อไปทำไม? นี่เป็นเวลาและโอกาสที่ดีที่สุดของท่านแล้ว กระโดดเลยครับลุงตู่!!!

พร้อมทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า สวัสดีครับ
จากผมเอง สังศิต พิริยะรังสรรค์