‘ฟื้นเศรษฐกิจ!!!วัคซีนพาสปอร์ต’!?! ดันท่องเที่ยวปั้มเงิน 500,000 ลบ.ดึงต่างชาติ 8 ล้านคน คาดจีน 2 ล้านคน

1656

การท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย  เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักหน่วงทั่วโลก และประเทศไทยด้วย  และปัจจุบันนับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจึงเร่งออกมาตรการต่างๆรองรับทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ “ทัวร์เที่ยวไทย” สำหรับต่างประเทศ ชู ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ที่นานาชาติให้ความสำคัญและเริ่มใช้กันบ้างแล้ว คาดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคนตลอดปี ขณะเดียวกันทั้งสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว หรือแอตต้า และหอการค้าไทย-จีนต่างใจตรงกันกับรัฐบาล ทำหนังสือสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งคลอด “วัคซีนพาสปอร์ต” ให้ทันเทศกาลท่องเที่ยวชื่อดังของไทย คือสงกรานต์ และคาดว่า ประเทศจีนซึ่งมีศักยภาพ และต้องการท่องเที่ยวจะเลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบดำเนินมาตรการออก “วัคซีนพาสปอร์ต” ให้เร็วที่สุดภายในเดือน มี.ค.2564 หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว

นักท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์ได้วัคซีนพาสปอร์ตจะไม่ต้องกักตัว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคน และคาดว่าในจำนวน 8 ล้านคน จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยมากกว่า 2 ล้านคน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนท่องเที่ยว ต้องการให้เกิดโดยเร็ว ยิ่งช้าไทยจะยิ่งสูญเสียตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งขณะนี้คนจีนมีความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศไทย เพราะเห็นว่าปลอดภัย 

หากมีวัคซีนพาสปอร์ต ออกมาภายในเดือน มี.ค. คาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้อย่างช้าสุดภายในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป ส่วนการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 หอการค้าไทย-จีน เชื่อว่า อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี หรือประมาณปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ผลสำรวจของหอการค้าไทย-จีน ยังพบด้วยว่า การฉีดวัคซีนจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย และเห็นด้วยว่าหากต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว จะช่วยหนุนภาคท่องเที่ยวของไทยที่รับผลกระทบหนัก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

อีกหนึ่งมาตรการที่รัฐพยายามจะฟื้นภาคการท่องเที่ยวจากคนประเทศเอง คือ มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.เตรียมหารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทยวันที่ 15 มี.ค.นี้ เพื่อพยายามผลักดันให้มาตรการนี้ได้ไปต่อ หลัง ครม.ตีกลับมาให้ทบทวนรูปแบบ โดยเฉพาะประเด็นการป้องกันการ “ทุจริต” ซึ่งถูกตรวจพบในครั้งที่ผ่านมา เน้นไปที่ “ระบบรองรับ” ถ้าออกแบบให้ป้องกันการทุจริตได้ โครงการนี้ก็อาจได้ไปต่อ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และหากวัคซีนพาสปอร์ตเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นหมายถึงเครื่องยนต์หลักเราจะกลับมากระหึ่ม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าต่อได้ทันที 

ในขณะเดียวกันองค์กรด้านการท่องเที่ยวอย่างสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวหรือแอตต้า และหอการค้าไทย-จีนต่างมีความเห็นสอดคล้องกัน และได้ทำหนังสือถึงรัฐบางให้เร่งคลอด “วัคซีนพาสปอร์ต” ให้เร็วที่สุด

วันที่ 11 มี.ค.2564 ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ทำหนังสือถึง ศบค. ออกวัคซีนพาสปอร์ต โดยไม่ต้องกักตัว ภายในเดือนมี.ค. เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว คาดจะทำให้นักท่องเที่ยวมาไทยปีนี้มากกว่า 8 ล้านคน หากช้าอาจเสียตลาดให้ประเทศอื่น 

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน จะทำหนังสือถึงศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันนี้ (11 มีนาคม 2564) เพื่อให้เร่งมาตรการออกวัคซีนพาสปอร์ต ภายในเดือนมีนาคม 2564 หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 

โดยเมื่อดำเนินการออกวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว ศบค.ควรกำหนดให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนพาสปอร์ต ไม่ต้องกักตัวแล้ว ซึ่งจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคน และคาดว่าในจำนวน 8 ล้านคน จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน

ทั้งนี้ หากมีวัคซีนพาสปอร์ต ออกมาภายในเดือนมีนาคม คาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้อย่าช้าสุดภายในเดือนเม.ย. เป็นต้นไป หากรัฐบาลดำเนินการล่าช้าอาจทำให้ไทยสูญเสียตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า ส่วนการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี หรือประมาณปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

ผลสำรวจความคิดเห็นหอการค้าไทย-จีน ส่วนใหญ่เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว และต้องการเข้ามาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทย โดยขอให้ภาครัฐเร่งรัดการออกนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีเวลาเตรียมตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้วางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า

นอกจากนี้ การสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการฉีดวัคซีนจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย และเห็นด้วยว่าหากต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว

มาฟังฝ่ายแอตต้าบ้าง ที่เห็นพ้องกันโดยไม่ได้นัดหมาย นั้นแสดงว่า ทุกฝ่ายคิดตรงกันทั้งภาครัฐและเอกชน ฉะนั้นจะรออะไรเล่า ลุยเลยลุงตู่!!

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวให้ชัดเจน ว่าจะเปิดให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวเมื่อใด โดยสัปดาห์นี้จะส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งต้องการให้เริ่มต้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยว 500,000 ล้านบาท ช่วยหนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ได้ 4%

“ภาคเอกชนไม่อยากเป็นภาระ ให้รัฐบาลเยียวยาเป็นเวลานาน และมองว่าวัคซีนเป็นทางรอด ทางออกและความหวังของการท่องเที่ยวไทย ขณะนี้คนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 250 ล้านคน และภายในครึ่งปีแรกจะมีคนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีน 1,000 ล้านคน หลายๆประเทศจะมีการฉีดเกิน 50% ของประชากร ทำให้ขณะนี้ทั่วโลกเขามองเรื่องการท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวกันแล้ว ต่อไปคำว่ากักตัวจะเหลือน้อยมาก จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาโดยเร็ว อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอื่นๆ เดินทางเข้าไทยแบบไม่กักตัว และมีมาตรการควบคุมเพิ่มได้ เช่น การสวอปหาเชื้อเพิ่มอีก 1 ครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย และมีแอปพลิเคชันติดตามตัว”

สำหรับข้อเสนอ ให้เริ่มเปิดประเทศสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยไม่ต้องกักตัว ในเดือนแรก มิ.ย.จะเริ่มมีต่างชาติเข้ามา 200,000-300,000 คน ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. เดินทางเข้ามา 500,000 คน จากนั้น เดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 คน เดือน ก.ย. เป็น 1 ล้านคน เดือน ต.ค. เป็น 1.5 ล้านคน เดือน พ.ย. เป็น 2 ล้านคน และเดือน ธ.ค.เป็น 2.5 ล้านคน รวม 8.3 ล้านคน แต่ถ้าเริ่มเปิดประเทศล่าช้าเป็นเดือน ก.ค. รายได้จะหายไป 200,000 ล้านบาท และมีต่างชาติเข้ามา 6 ล้านคน ส่วนกรณีเปิดเดือน ต.ค.จะมีชาวต่างชาติเข้ามาได้ไม่เกิน 3 ล้านคน เพราะเมื่อเริ่มเปิดประเทศ ต้องใช้เวลา 3-6 เดือนกว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นปกติ

นอกจากนั้น การจะเริ่มเปิดประเทศเมื่อใด ต้องแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน หากตัดสินใจเปิดประเทศเดือน มิ.ย.นี้ ก็ต้องแจ้งล่วงหน้าเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้เอกชนจัดเตรียมสินค้าท่องเที่ยวและเริ่มการขาย พร้อมติดต่อกับสายการบิน ตลอดจนตามแรงงานที่กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดได้กลับมาทำงาน หลังจากไทยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเกือบ 1 ปี รายได้การท่องเที่ยวหายไป 2 ล้านล้านบาท ส่วนในอนาคตคาดว่าต้องใช้เวลา 3 ปีจากนี้จนถึงปี 2566 ท่องเที่ยวถึงจะฟื้นตัวกลับมา 100% เท่าปี 2562 ก่อนเจอโควิด-19 หรือดีกว่าด้วยซ้ำ โดยปีนี้จะฟื้นตัว 15-20% หรือคิดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6-8 ล้านคน ขึ้นกับว่าจะเริ่มเปิดประเทศเดือนใด ส่วนปี 2565 คาดว่าฟื้นตัว 70% จากปี 2562

“แรงงานภาคท่องเที่ยวที่เคยมีอยู่ 4 ล้านคน ปัจจุบันตกงาน 1 ล้านคน และอีก 2 ล้านคน ต้องหยุดงาน ลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง และสลับชั่วโมงการทำงาน ขณะที่กลุ่มที่ยังทำงานเต็มเวลามี 1 ล้านคน แต่ถ้าเปิดประเทศ แรงงานภาคท่องเที่ยวก็จะทยอยกลับมาทำงานแบบเต็มเวลา 1 ล้านคน ทั้งจากกลุ่มที่ต้องหยุดงานชั่วคราว และกลุ่มตกงานถาวร ซึ่งจะได้กลับมาทำงาน ครอบคลุมธุรกิจโรงแรม ห้องอาหาร การบิน มัคคุเทศก์ ฯลฯ”