องค์การอนามัยโลก WHO ได้เลือกประเทศไทย จัดทำคลิปเพื่อเผยแพร่ศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นตัวอย่างในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของ covid-19ได้อย่างยอดเยี่ยม ทีมวิเคราห์ะถอดบทเรียนการทำงานของทีมไทยนับ 100 ยกย่องจุดเด่นระบบสาธารณสุขพื้นฐานไทยเข้มแข็ง การร่วมมือทุกภาคส่วนเป็นยอด พร้อมชื่นชมประชาชนในพื้นที่ หน่วย”อสม.-อสต.”เป็นปัจจัยความสำเร็จ แม้ภูมิใจในผลสำเร็จ แต่ต้องไม่ประมาทเพราะนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และศบค.ได้เตือนถึงสถานการณ์น่าเป็นห่วงของการระบาดโควิดระลอกใหม่ รอบโลกและรอบบ้านเรา
แบบอย่างความสำเร็จที่โลกยอมรับ
ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพของประเทศไทยเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง ซึ่งมีรากฐานจากหลายทศวรรษแห่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและความพร้อมในระดับสูงที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัส หรือสถานการณ์สาธารณสุขฉุกเฉินอื่นๆ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้เริ่มรับมืออย่างรวดเร็วเมื่อต้นเดือนมกราคม เมื่อเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าโรคโควิด-19 จะเป็นปัญหาใหญ่
WHO ได้จัดทำคลิปสารคดีเกี่ยวกับความสำเร็จของประเทศเพื่อถ่ายทอดและแบ่งปันประสบการณ์แก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ถัดจากประเทศนิวซีแลนด์ทั้งนี้ได้จัดทำเป็นวิดีโอ 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีความยาวประมาณ 4.25 นาที เผยแพร่ทางช่อง Youtube ของ World Health Organization h ttps://youtu.be/0wFuq-QdwAU โดยใจความสำคัญที่ต้องการถ่ายทอดคือ หากมีระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่เข้มแข็ง การต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 จะง่ายขึ้นมาก โดยจุดเด่นของระบบสุขภาพของไทย คือการออกแบบเพื่อปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ตอบสนองได้รวดเร็วด้วยยุทธศาสตร์ที่ให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการป้องกัน ค้นหา รักษาและติดตาม
ถอดบทเรียนของประเทศไทย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20-24 ก.ค.2563ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยทีมจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ใน 9 เสาหลักสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยมีผู้แทนของไทยเข้าร่วมกว่า 100 คนจากทุกภาคส่วน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนนี้ บทเรียนการดำเนินการควบคุมโควิด-19 ที่ได้รับคำชื่นชมจากทีมผู้วิเคราะห์ของWHO ได้แก่
-การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากการร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทางจากต่างประเทศในสถานที่กักกันของประเทศไทย
-การเเลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลผู้เดินทาง ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-ประเทศไทยสามารถตรวจจับสถานการณ์ผิดปกติได้เร็ว ทำให้สามารถตรวจจับผู้ป่วยตามนิยามฯ และผู้ป่วยยืนยันรายแรกของประเทศไทยได้
-มีการพัฒนานิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน การคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านท่าอากาศยานในระยะเเรกเเละขยายสู่ท่าเรือ เเละด่านช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ
-การเฝ้าระวังในชุมชนเเละโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ทางการเเพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เเละทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 ทีมที่มีความพร้อมในการลงพื้นที่ในการสอบสวนโรค ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับคำชื่นชมในหลายประเด็นของแต่ละเสาหลัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่ไทยต้องพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายที่มีอยู่เเล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนเเละพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น การพัฒนาเเละรวมระบบบริหารจัดการส่วนกลางด้านข้อมูล อาทิ ผลทางห้องปฏิบัติการ รายงานการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ข้อมูลทรัพยากรทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการได้อย่างสูงสุดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ด้วย รวมถึงการขยายและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทีมสอบสวนโรคให้มากขึ้น เพื่อรองรับการระบาดระลอกสองที่อาจมีขึ้น และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต