“อัษฎางค์” ชำแหละเหตุการณ์สมัย 14 ตุลา สะท้อนม็อบปลดแอก พ่อแม่ใจสลาย ลูกออกไปเป็นเครื่องมือให้คนอื่น

2559

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “ตุลาย้อนแย้ง” มีเนื้อหาระบุว่า “ตุลาปีนี้ คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาไท แต่พอโตขึ้นมากลับประกาศว่าตัวเองเป็นทาส” “ตุลาปีก่อนนู้นในอดีต คนรุ่นที่แล้ว ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สุดท้ายเข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์”

สมัย 6 ตุลา 14 ตุลา ผมเกิดแล้ว แต่ยังเด็กอยู่ ก็เลยไม่ได้สัมผัสเหตุการณ์จริง ได้แต่ฟังแม่เล่าให้ฟังอยู่บ่อย ๆ เสมอ เช่นมีเรื่องหนึ่งที่ผมจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ คือแม่เล่าว่า แถวบ้านมีบ้านที่มีลูกเรียนธรรมศาสตร์ พอถึงวันนัดหมาย คล้าย ๆ เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ 19 ตุลาที่เป็นวันนัดหมายเพื่อก่อม็อบ พ่อแม่ก็เลยจับลูกขังไว้ในห้อง เพราะกลัวลูกออกไปร่วมขบวนการประท้วง

แต่สุดท้ายด้วยพลังคลั่งประชาธิปไตย ลูกก็หนีออกจากบ้านจนได้ แล้วลูกก็ไม่ได้กลับมาบ้านอีกเลย เพราะตายในสนามม็อบ ไม่ใช่สนามรบ แต่เป็นสนามม็อบ

 


ลูกไปเพราะความคลั่งประชาธิปไตย ที่เกิดจากการถูกปลุกปั่นให้คลั่งประชาธิปไตย ไปเสี่ยงตายด้วยความภูมิใจ และตายโดยไม่รู้สึกผิดอะไร

แต่คนที่หัวใจสลายคือพ่อแม่ พ่อแม่ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม แต่ลูกกลับโดนฉกไป ถูกคนอื่นหลอกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นเบี้ยที่ออกไปตายแทนขุน ขุนที่แอบอยู่ข้างหลัง

ส่วนคนที่รอดตาย ก็หนีเข้าป่า ไปร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ !

แปลกดีมั้ย ที่จุดเริ่มต้นคือ ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย แต่จบลงด้วยการเป็นคอมมิวนิสต์

เห็นอะไรมั้ย

ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยยังไงถึงไปเข้ากับคอมมิวนิสต์

แสดงว่าโดนหลอกมาตั้งแต่ต้น ถูกเอาความเป็นประชาธิปไตยมาเป็นเหยื่อล่อ แต่เนื้อแท้คือคอมมิวนิสต์

 

ด้วยความที่แม่เล่าเรื่องพวกนี้บ่อยมาก และเล่าอยู่เป็นประจำ ทำให้มันฝั่งอยู่ในหัวผม

และแล้วเหตุการณ์แบบเดือนตุลาก็เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภา เป็นพฤษภาทมิฬ ตอนนั้นผมทำงานแล้ว ผมทำงานอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง วันที่คณะปฏิวัติ 4 เหล่าทัพออกมาประกาศปฏิวัติ คนรอบข้างที่อยู่ในห้องเดียวกับผม มีทั้ง อาจารย์ ดร. ศ รศ ผศ หัวหน้าภาควิชา อาจารย์ทั้งน้อยและใหญ่ ทุกคนส่งเสียงเฮ

ส่วนผมยืนงง ทำไมผู้ใหญ่ทั้งหมดดีใจ ทั้งที่บ้านเมืองเราปกครองด้วยประชาธิปไตย ทำไมเมื่อมีปัญหาถึงไม่แก้ด้วยประชาธิปไตย ทำไมดีใจที่ทหารปฏิวัติ

เรื่องแบบนี้ ผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ใส่ซื่อบริสุทธิ์ แถมไฟแรง ทุกยุคทุกสมัยต้องไม่เห็นด้วย และไม่เข้าใจ

แต่จะเข้าใจในที่สุดเมื่อถึงเวลา เวลาที่ไม่ได้มีแค่ปริญญา แต่เป็นเวลาที่มีความรู้บวกกับประสบการณ์

แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ผมถึงเข้าใจว่า ทหารปฏิวัติเพราะนักการเมืองโกงกินบ้านเมืองกันอย่างโจ่งครึ่ม

แต่หลังจากทหารปฏิวัติเสร็จ ทหารก็กลายเป็นนักการเมือง แล้ววิญญาณนักการเมืองก็เข้าสิงทหาร คงไม่ต้องบอกว่าเหตุการณ์มันซ้ำรอยยังไง

ช่วงพฤษภาทมิฬ มีเพื่อน ๆ ผมแห่ตามไปสังเกตการณ์ คือแค่ตามไปดู ไม่ได้ไปร่วมประท้วง แต่ผมไม่ไปเลย ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ซึ่งคงเพราะมีเรื่องที่แม่เล่าให้ฟังบ่อยๆ เรื่องนั้น ที่มันฝั่งใจ

ซึ่งอาจถือว่าผมได้รับวัคซีนป้องกันโรคคลั่งประชาธิปไตยมาล่วงหน้าอย่างดี

แต่บังเอิญน้องสาวผมเรียนอยู่ที่ศิลปากร แล้วก่อนวันที่จะเป็นวันแดงเดือด มีกิจกรรมไปค่ายต่างจังหวัด แล้ววันที่กลับคือวันที่กำลังจะเกิดความรุนแรงกับม็อบ

แม่ผมนอนไม่ได้ นั่งไม่ติด มาตลอดหลายวันที่ลูกสาวไปค่าย แล้วกลัวว่าเสร็จเรื่องค่ายจะไปต่อที่ม็อบ ไม่กลับบ้าน

แม่ไปตามหาลูกสาวในศิลปากรอย่างกระวนกระวาย แต่หาไม่เจอ เพราะเป็นช่วงที่ชุลมุนแล้ว

สุดท้ายต่างคนต่างกลับมาเจอกันที่บ้าน

และน้องสาวผมไม่ได้ไปร่วมประท้วง แค่ไปแอบสังเกตการณ์ โชคดีที่กลับมาได้ เพราะมีหลายคนที่พอเข้าไปแล้ว ออกไม่ได้

เรื่องความทุกข์ร้อนใจของพ่อแม่ เป็นเรื่องที่ลูก ๆ คิดไม่ถึง และอาจไม่เคยคิดถึงมันด้วยซ้ำ

ยอมไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับคนอื่น โดยไม่คิดถึงหัวอกคนที่เป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมมาทั้งชีวิต

โดนเขาปลุกระดมให้ไม่ฟังพ่อแม่ แต่ให้ฟังใครก็ไม่รู้ที่เพิ่งจะรู้จักเขาเพียงไม่นาน และกลับเห็นเขาดีกว่าพ่อแม่ตัวเอง เชื่อฟังเขามากกว่าพ่อแม่ ที่ให้ข้าวให้น้ำให้เงิน ให้ความรักความเอ็นดู

เด็กนักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่วัยรุ่นยุคคนเดือนตุลา โดนคนรุ่นก่อนหลอกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ด้วยการเอาความเป็นประชาธิปไตยเป็นเหยื่อมาล่อ

และจบด้วยการชวนกันเข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์

ตอนนี้เด็กนักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่วัยรุ่นยุคปัจจุบัน ที่จะเป็นคนเดือนตุลายุคดิจิตอล ก็ซ้ำรอยเดิม รอยที่โดนคนรุ่นก่อนหลอกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เหมือนเดิม

คนรุ่นพ่อแม่เห็นภาพชัดเจนทะลุปรุโปร่ง แต่เด็ก ๆ มองไม่เห็นเลย เพราะเขามีความรู้ มีปริญญา แต่ไม่ประสบการณ์

ประสบการณ์ที่จะสอนให้ได้สัมผัสความสุขหรือความเจ็บปวด

ประสบการณ์นั้นมีค่ามหาศาล ถ้าเราใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนมาเป็นบันได เราจะก้าวข้ามปัญหาเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น และทำให้เราก้าวกระโดดข้ามปัญหาเดิมไปได้อย่างรวดเร็ว

แต่ถ้าเราปฏิเสธและอยากสัมผัสประสบการณ์นั้นเอง เราก็จะย่ำอยู่กับที่ เพราะเราชีวิตเราไม่ได้ยาวนานอะไร เมื่อเสียเวลากับปัญหาเดิมๆ ก็ไม่มีโอกาสแก้ปัญหาใหม่ ปัญหาที่จะทำให้เราก้าวหน้า หรือถอยหลัง หรือย่ำอยู่ที่เดิม วนลูบอยู่อย่างนั้น ในขณะที่เพื่อนบ้าน อาณาอารยประเทศเขาก้าวข้ามไปถึงไหนต่อไหนแล้ว

คำถามที่ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันถามคนรุ่นเก่าว่าประเทศไม่พัฒนา เพราะคนรุ่นเก่าทำได้แค่นี้เหรอ จะถูกเด็กรุ่นใหม่คนต่อไปถามซ้าเหมือนเดิม เพราะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันวนลูบกลับไปสร้างปัญหาเดิมที่คนรุ่นเก่าแก้ไขและก้าวข้ามมาแล้ว

ประเทศนี้ไม่มีทาสมานานนับร้อยปีแล้ว แต่คนรุ่นปัจจุบันกลับไปประกาศตัวว่าตัวเองเป็นทาส เพียงเพื่ออยากจะได้มีโอกาสทำอะไรเท่ ๆ ด้วยการประกาศเลิกทาสให้ตัวเอง ทั้งที่ไม่เคยเป็นทาส