รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เดินหน้าช่วยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ด้วยการแก้ พรก.ซอฟต์โลน เพิ่มเพดานสินเชื่อ ปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อจูงใจสถาบันการเงินปล่อยกู้ คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้ ขณะที่ทางเอกชนกกร.สนับสนุน ที่ก.คลังจะเปิดโครงการโกดังพักหนี้ ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจท่องเที่ยว ให้สามารถประคองธุรกิจได้ต่อไป
วันที่ 4 มี.ค.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการปรับเกณฑ์ใช้เงินพระราชกำหนด เงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ยังเหลือกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น โดยแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะยังเป็นรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ปรับเงื่อนไขใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้น จากเดิมกำหนดให้เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะเพิ่มให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่เข้ามายื่นขอกู้ได้ด้วย และจะขยายวงเงินกู้ต่อราย จากเดิม 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย จากเดิม 2% ให้เป็นช่วงตั้งแต่ 2% ขึ้นไป เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงิน ปล่อยกู้เพิ่มขึ้น
วงเงินอีกส่วน จะนำมาจัดทำโครงการโกดังพักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ให้สามารถนำทรัพย์สิน มาขายฝากกับสถาบันการเงิน และในระหว่างนั้น สามารถจ่ายค่าเช่ากับธนาคาร เพื่อให้ประกอบกิจการต่อไป และเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง สามารถกลับมาซื้อคืนได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้
นาย อาคม ย้ำว่า แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย และมีวัคซีนแล้ว แต่ปีนี้ รัฐบาลยังจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง เพราะต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก เพราะดีมานด์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาไม่ได้ ซึ่งภาคการท่องเที่ยว คิดเป็น 12% ของจีดีพี อีกทั้งการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีชะงักไป ซึ่งกระทบภาพรวมเศรษฐกิจวงกว้าง จึงต้องใช้เวลากว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดการประชุมประจำเดือนมีนาคม 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธานร่วม ณ ห้องบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมคอนราด เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้เสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของสมาคมธนาคารไทย ที่ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และกระทรวงการคลัง เพื่อหารือข้อเสนอมาตรการประคองและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” ซึ่งทั้ง 3 Pillar นั้น เพื่อมองไปข้างหน้า แก้ไขปัญหา และตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพก้าวผ่านวิกฤติ อีกทั้งยังมีเวลาที่จะให้ธุรกิจได้ปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต
- ปรับปรุง : “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” (Asset warehousing) ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวอยู่รอดได้ โดยให้ผู้ประกอบการสามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียกิจการไป
- ฟื้นฟู : สำหรับธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวและมีความต้องการวงเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น เป็นการเพิ่มวงเงินสินเชื่อ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจแบบปกติ (Revive & Restart) โดยเสนอให้ภาครัฐ สนับสนุนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงวงเงิน
- เปลี่ยนแปลง : การใช้ e-Invoicing บน Platform โดยให้มีมาตรฐานกลางทั้งในเรื่องรูปแบบของ Invoice ระยะเวลาที่เหมาะสมของ Credit Terms ซึ่งจะรวมถึงการร้องเรียน และการคืนสินทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการค้าที่โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกรายและจะทำให้ระบบเครดิตทางการค้าเชื่อมโยงกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้
“สมาคมแบงก์และธนาคารสมาชิกมีการหารือธปท.กระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลรับทราบอย่างต่อเนื่องและเร่งให้ดำเนินการ ซึ่งทั้ง “Asset Warehousing” และมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อพิเศษ กรณีลูกค้าต้องการสภาพคล่องเพิ่ม เป็นสองเรื่องที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน คาดว่าน่าจะมีข้อสรุปภายในสองเดือน”
นายกลินท์ สารสิน กล่าวว่า นอกจากการช่วยกลุ่มธุรกิจโรงแรมแล้ว ควรจะรวมกลุ่มสายการบินด้วย เพื่อสนับสนุนการเดินทางหัวเมืองรอง สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวว่า อยากให้รวมถึงซัพพลายเชนของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สายการบินและโรงแรมด้วย