ค้าออนไลน์ไทยทะยานที่ 1 อาเซียน!?! โต 81% ต่อปีแม้โควิดบุก มูลค่าแตะ 9 พันล้าน$ รัฐบาลหวังชดเชยรายได้ท่องเที่ยวชะลอตัว

1516

ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยน เลี่ยงจับเงินสด ลดการเดินทางออกนอกบ้าน ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ สอดรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซไทยทะยานขึ้นเบอร์ 1 ในอาเซียนจากผลสำรวจของ Google และ ETDA ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข้อมูลเผยว่า คนไทยครองแชมป์ทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก ตลอดจนรัฐบาลไทยเร่งเครื่องผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยเต็มสูบ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลหนุนการค้าออนไลน์ในประเทศ เป็นที่น่าจับว่าอีคอมเมิร์ซอาจจะเข้ามาชดเชยการชะลอตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังทรงตัวและไม่แน่นอนแม้มีวัคซีนแล้วก็ตาม

อ้างอิงผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล  “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020)” โดยทีมวิจัย Google, Temasek และ Bain & Company เผยแพร่ผลประเมินมูลค่าเศรษฐกิจการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบุว่า อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด

โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าแตะ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 แม้วิกฤตการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบ แต่การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซได้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์ 

รายงานเปิดเผยต่อไปว่าเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยในช่วงล็อกดาวน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ใช้จํานวนมากเริ่มลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ สัดส่วน 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดเป็นผู้ใช้รายใหม่ และสัดส่วนกว่า 95% ตั้งใจที่จะใช้บริการดิจิทัลต่อไปหลังช่วงระบาด

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ตามข้อมูลระว่า คนไทยใช้เวลาออนไลน์สำหรับเรื่องส่วนตัว เฉลี่ย 3.7 ชั่วโมงต่อวันในช่วงก่อนโควิด และพุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมง ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และปัจจุบันคงที่อยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน

ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ระบุว่าจากการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย หรือ อีคอมเมิร์ซ พบว่า ภาพรวมมูลค่า อีคอมเมิร์ซไทย แบบ B2C (Business to Customer ธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการระหว่างเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภครายบุคคล) สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย พุ่งทะยานแตะ 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2562 หรือเติบโตขึ้น 6.91% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.76 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2.76 ล้านล้านบาท ถึง 36.36% 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังมีกระแสสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายโจมตีรัฐบาลประเด็น ไม่กำหนดให้การค้าออนไลน์เป็นอาชีพสำหรับคนไทย โดยโต้แย้งเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

ตามข้อเท็จจริงการค้าออนไลน์นั้นเป็น  “ธุรกิจบริการ”  อย่างหนึ่งตามบัญชีสาม ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นธุรกิจที่กฎหมายห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพราะคนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจบริการนี้ในประเทศไทยได้ แต่จนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่ได้เปิดให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจบริการนี้ในประเทศไทย

ในปัจจุบันว่าประเทศไทยมีโครงสร้างทางดิจิทัลที่เข้มแข็งมากในลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจาก รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับการค้าออนไลน์ในประเทศ โดยผู้ให้บริการ Platform ของไทยเอง จะได้ไม่ต้องพึ่งพา Platform ต่างประเทศอย่างเดียว ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังออกกฎหมายให้จัดเก็บภาษีจาก Platform ต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศเหมือนกับที่ต่างประเทศกำลังดำเนินการด้วย 

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทยเติบโตเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ปัจจัยหนึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตต่อเนื่อง และยังคงครองอับดับ 1 ของธุรกิจดาวรุ่งในปี 2564

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza วิเคราะห์เทรนด์ตลาดอีคอมเมิร์ซไว้อย่างน่าสนใจความว่า เริ่มที่ฝั่งของ “อีมาร์เก็ตเพลส”  อย่าง ช้อปปี้ ลาซาด้า และเจดี เซ็นทรัล จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องเข้ามาหา ปัจจุบันแพลตฟอร์มต้องเข้าไปหาลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อัดโปรโมชั่นจูงใจผู้บริโภค โค้ดส่วนลด จัดส่งฟรี รวมถึงเพิ่มการปฏิสัมพันธ์มากกว่าแค่การคลิกซื้อสินค้าอย่างเดียว เป็นตจุดเริ่มต้นของฟีเจอร์ไลฟ์สด กิจกรรม เกมต่างๆ เรียกว่าเป็นการเพิ่ม user experience

สำหรับฝั่งของ  “โซเชียลคอมเมิร์ซ”  ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านปฏิสัมพันธ์ ผู้บริโภคสามารถพูดคุยสอบถาม ทำได้มากกว่าแค่กดคลิกสั่งซื้อ โดยยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรุกอีคอมเมิร์ซ อย่าง Facebook Shops เปิดพื้นที่ขายจากเดิมแบบไร้รอยต่อ สามารถซื้อขายในเฟสบุ๊คได้เบ็ดเสร็จ หรือ LINE Shopping จากเดิมเป็นแหล่งรวมออนไลน์ช้อปปิ้ง ตอนนี้ปรับมาเป็นแหล่งรวบรวมร้านค้าที่เปิดร้านด้วย LINE MyShop เท่านั้น

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ระบุว่า ในปี 2563 ระบุว่าคนไทยทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) เป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน รองลงมาคือ เกาหลีใต้ สัดส่วน 64.0% โดยพบว่าคนไทยซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% และมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าประชากรไทยมีการเข้าถึงบัญชี Mobile Banking มากถึง 67,710,451 บัญชี (ข้อมูล ณ พ.ย. 2563) และมีจำนวนธุรกรรมใน 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย. 2563) 8,239.75 ล้านครั้ง มูลค่าธุรกรรม 30.50 ล้านล้านบาท แน่นอนว่า การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการต่างๆ ตลอดจนกลไกของรัฐ ผลักดันให้คนไทยเข้าสู่ทำธุรกรรมออนไลน์ ตั้งแต่โครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ที่ทำให้แอปฯ “เป๋าตัง” กลายมาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนไทยใช้กันสูงสุด  

นายพัชร สมะลาภา  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกลยุทธ์ตั้งเป้า K PLUS เป็น Digital Lifestyle Ecosystem ไม่ได้จำกัดการใช้แค่ในแอป K PLUS แต่ไปอยู่ในทุกที่ ทุกเวลาที่ลูกค้าต้องการบริการทางการเงิน โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งาน K PLUS รวม 17.5 ล้านราย และมีจำนวนธุรกรรมทั้งหมดผ่าน K PLUS มากกว่า 2.46 หมื่นล้านรายการ ภายในปี 2564