อดีตผู้พิพากษา กางหลักฐานฟาดหน้า “บก.ฟ้าเดียวกัน” ด่าผู้พิพากษา ไม่กล้าลงชื่อยกคำร้องประกันตัว 4 แกนนำ!!

3075

อดีตผู้พิพากษา กางหลักฐานฟาดหน้า “บก.ฟ้าเดียวกัน” ด่าผู้พิพากษา ไม่กล้าลงชื่อยกคำร้องประกันตัว 4 แกนนำ!!

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (27 ก.พ. 64) นายนรเศรษฐ์ ได้โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ว่า “ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว กลุ่มราษฎร นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” โดยคำสั่งศาลคือ “วันที่ 26 เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2564 พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตาม คำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง.”

ต่อมาทางด้าน นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกัน ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “กล้าทำ ไม่กล้ารับ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว กลุ่มราษฎร นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” แต่ไม่กล้าลงชื่อ สมแล้วที่คนจะด่าศาลกันทั้งบ้านทั้งเมือง”

ในขณะที่ทางด้าน เพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ก็ได้นำข้อความดังกล่าวของนายธนาพล ไปแชร์และลงชื่อ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล

ล่าสุด นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เขียนดูแคลนผู้พิพากษาที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแกนนำม็อบราษฎรว่า ไม่กล้าแสดงตัว ฯ
ในฐานะที่เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษามา 34 ปีเศษและเคยเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นเวลา 17 ปี ขอชี้แจงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังนี้
1.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ว่ากรณีใดต้องทำเป็นคำพิพากษาหรือทำเป็นคำสั่ง
2.เรื่องปล่อยชั่วคราวที่กล่าวไว้ในมาตรา 106 ถึงมาตรา 119 ทวิ กำหนดให้คำเป็นคำสั่ง ศาลจึงต้องยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว
3.การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของแกนนำม็อบราษฎรที่อุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยทำเป็นคำสั่ง ไม่ได้ทำเป็นคำพิพากษา จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว
4.คำที่เรียกประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า “ตัดสิน” หรือ ภาษากฎหมาย เรียกว่า “พิพากษา” นั้น ตามกฎหมายให้ใช้ในกรณีที่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาที่เป็นข้อพิพาทแห่งคดี แต่คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ไม่ใช่การวินิจฉัยเนื้อหาที่เป็นข้อพิพาทแห่งคดี ผู้ที่รู้กฎหมายไม่เรียกว่า “ตัดสิน” แต่จะเรียกว่า “คำสั่ง”
5.คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องตามข้อ 3 เป็นรูปแบบคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีใช้กันมานานนับสิบปีแล้ว โดยมีลายมือชื่อขององค์คณะผู้พิพากษา 3 ท่าน และประทับตราศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี โดยไม่พิมพ์รายชื่อองค์คณะผู้พิพากษา เพราะไม่ใช่คำพิพากษาที่ต้องพิมพ์รายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาด้วย และไม่ใช่เพิ่งมีเฉพาะคำสั่งคำร้องคดีแกนนำม็อบ ทั้งไม่ใช่เพราะองค์คณะผู้พิพากษาไม่กล้าแสดงตัวหรือหวั่นเกรงอะไรอย่างที่นายสมชายกล่าวหาอย่างดูแคลน
องค์คณะผู้พิพากษาดังกล่าวกล้าแสดงตัวเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างแน่นอนโดยไม่หวั่นเกรงอะไร เพราะเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนที่ยุยงส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกระทำผิดกฎหมาย แต่ตัวเองแอบอยู่ข้างหลังม็อบ
6.ถ้าผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีไม่กล้าแสดงตัวหรือหวั่นเกรงอะไรก็คงไม่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี จำคุกจำเลยตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตจำเลย เพราะคำพิพากษาเหล่านั้นได้พิมพ์รายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ในคำพิพากษาทุกคดี