ตัวเลขส่งออกอุตฯอาหารพุ่ง?!? แต่เอสเอ็มอี โอทอปยังอ่วม รัฐบาลแค่เยียวยาไม่พอ ต้องผ่าตัดทุนใหญ่ผูกขาด??

1564

อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ มูลค่าการผลิตรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารยังก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจสูงที่สุด รวมทั้งก่อให้เกิดการนำเข้าเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ของประเทศไทย ดังนั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารจึงมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการอย่างแนบแน่นกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ผ่านมาความสำเร็จความม้่งคั่งร่ำรวยจาก การส่งออกอาหารและการเกษตรกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานราก เช่นเกษตกร เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับความร่ำรวยของทุนขนาดใหญ่ที่แข็งแรง และผูกขาดห่วงโซ่อุปทานของการผลิตการส่งออก

วันที่ 18 ก.พ.2564 3 องค์กรด้านอุตฯอาหาร ได้แก่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร ได้เปิดเผยว่าปี 2563 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า หดตัวลงร้อยละ 4.1  ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงเหลือร้อยละ 2.32 จากร้อยละ 2.49 ในปี 2562 และคาดว่าปี 2564 จะขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 ที่มูลค่าส่งออก 1.05 ล้านล้านบาทแน่นอน

ทั้งนี้ตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 2563 มีประเทศจีน สหรัฐฯ และโอเชียเนีย 3 ตลาดหลักที่มีอัตราขยายตัว โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 179,761 ล้านบาท(+18.1%) สหรัฐฯมีมูลค่า 118,718 ล้านบาท (+12.2%) ภูมิภาคโอเชียเนียมีมูลค่า 33,056 ล้านบาท(+1.7%) ส่วนตลาดอื่นๆหดตัวลง 

ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ18.3 รองลงมา ได้แก่ CLMV ร้อยละ 13.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ  พบว่าสินค้าอาหารไทยพึ่งพิงตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอย่างจีนและ CLMV มากขึ้น โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึงร้อยละ 32.2 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 12.1 ในช่วง 10  ปีก่อน โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนและ CLMV เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19.6 และ 8.9 ต่อปี 

กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง(+9.1%)  เครื่องปรุงรส(+8.1%) และอาหารพร้อมรับประทาน(+12.6%) ซึ่งสอดรับกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่บ้าน  

ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มีความหวังในทางบวก แต่ความจริงเบื้องหลังตัวเลขสวยงามนี้ มีการกล่าวถึงน้อยมากถึง ผลประโยชน์ตอบแทน และการจายความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรเพื่อการส่งออกนี้ว่า แท้จริงอยู่ในมือของทุนรายใหญ่เสียเป็นส่วนมาก กระจายผลตอบแทนลงมายังผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกรน้อยกว่าที่ควร สภาพที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดคือ 

“รายได้เอสเอ็มอี สินค้าวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรยังไม่โงหัว” รัฐบาลต้องอุ้มกระเตงกันเป็นระยะ เป็นเช่นนี้ทั้งก่อนและระหว่างการระบาดโควิด-19 ใครจะมาแก้ปัญหานี้ได้ถ้าไม่ใช่รัฐบาล  การเยียวยาผลกระทบนั้นถูกต้อง แต่ต้องมองระยะยาวที่สร้างความยั่งยืนให้กับ เศรษฐกิจฐานรากที่เป็นห่วงโซ่ต้นน้ำ นำไปสู่การค้าขาย การส่งออกได้อย่างแท้จริง 

 วัตถุดิบเกษตรและอาหารยังคงเป็นที่ต้องการ มีโอกาสส่งออกได้ สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะดีกว่าหรือไม่ ที่ไทยจะสามารถผลิตสินค้านวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและกำไรที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้โดยเศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน รัฐบาลจะทำอย่างไรให้วิทยาการสมัยใหม่ถึงมือกลุ่มนี้ได้โดยตรง

การเกิดคู่แข่งใหม่ๆ ขึ้นอยู่เสมอ มีกฎระเบียบมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ๆ และผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอยู่ตลอดเวลา กลุ่มเศรษฐกิจฐานรากจะรู้เท่าทันสถานการณ์ได้อย่างไร คำถามว่ารัฐบาลควรมีบทบาทอย่างไรต่อปัญหานี้? เพื่อให้ความมั่งคั่งจากการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรตกถึงมือเศรษฐกิจฐานรากโดยตรงมากยิ่งขึ้น ขอเสนอคำตอบเบื้องต้นว่า

1.การพัฒนาอย่างจริงจังและการสนับสนุนของรัฐบาลด้านข้อมูลกฎระเบียบ การตลาด การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า 

2.สนับสนุนการค้าโดยผ่านขั้นตอนการเจรจาการค้า และการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

3.การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster)-OTOP  จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเกื้อหนุน เชื่อมโยงการผลิตและกิจการอย่างครบวงจร เกิดการพัฒนาด้านปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบที่แน่นอน มีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งจะมีแรงบันดาลใจให้สามารถคิดค้นและใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย