หลายเสียงพูดตรงกัน ม็อบหมดความชอบธรรม แม้ฝ่ายแนวร่วม คนที่สนับสนุนยังออกมายอมรับถึงการสร้างความรุนแรงในการชุมนุม ทั้งการประเมินสถานการณ์ของผู้นำมวลชนรุ่นพี่อย่าง ตู่ จตุพร ที่กล้าฟันธงลงไปว่า ม็อบใกล้จุดจบ และอาจถึงขั้นนองเลือดกันด้วย???
โดยการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ.64 ที่ผ่านมาของกลุ่มคณะราษฎร ถือว่าเป็นสัญญาณที่พอจะบอกอะไรได้หลายๆอย่าง นั่นก็คือ ประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมค่อนข้างที่จะบางตา คนจำนวนมากเริ่มถอนตัวไม่เอาด้วย ต่างจากเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.63 ที่เรียกได้ว่ามีมวลชนออกมาร่วมชุมนุมได้หนาแน่นที่สุด และถือว่าเป็นการยกระดับขั้นสุดแล้วของม็อบคณะราษฎร
หลังจากนั้นมา การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ค่อนข้างเพิ่มระดับความรุนแรง เพิ่มขีดจำกัดในการปะทะ เริ่มผลักดันให้ประชาชนออกไปเป็นโล่ เข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกลุ่มแกนนำ และผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่เคยแม้แต่จะเข้าปะทะ ซักครั้งเดียว ความรุนแรงเริ่มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งในวันที่ 13 ก.พ.64 เป็นที่ชัดเจนว่า ม็อบกำลังต้องการปะทะ และใช้ความรุนแรงยกระดับสู่การจลาจล
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.พ.64 “นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ผู้ต้องหาหนีคดี ได้โพสต์ข้อความ ถึงการประเมินผ่านทวิตเตอร์ @somsakjeam โดยมีเนื้อหาสื่อไปในทางยอมแพ้ และมองว่าม็อบยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากผู้ร่วมชุมนุมเริ่มลดลงแบบบางตา แถมยังเริ่มมีความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกครั้งที่มีการชุมนุม ม็อบเริ่มหมดความชอบธรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“ตอนนี้ ไม่ว่าจะประเมินอย่างไร ต้องบอกว่า เรายังไม่พร้อม ยังมีคนจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เอาด้วยกับเรา นอกจากนี้ เฉพาะหน้า มีเพื่อนเราถูกจับ ไม่ให้ประกัน เราต้องยึดมั่นในใจไว้ให้ดี การปะทะตอนนี้ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น”
ล่าสุดวันนี้ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เฟซบุ๊ก Peace News ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่ ถึงการจัดรายการของประธานนปช.ไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ของม็อบที่เรียกว่า เป็นช่วง 7 วันอันตรายถึงขั้นนองเลือด???
ทั้งนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk บางช่วงว่า สถานการณ์รอยต่อเหตุการณ์เมื่อ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา จะสะท้อนถึงปรากฎ 7 วันอันตรายและน่าจับตาอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลถึงการชุมนุมตามนัดในช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.พ. อาจถึงขั้น คลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดปน
“เหตุการณ์คลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดปนเป็นสำนวนท่อนในเนื้อเพลง จากลานโพธิ์ถึงภูพานซึ่งนายวัฒน์ วรรลยางกูล เขียนขึ้นจากเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาใน ม.ธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลา 2519 จนต้องหนีขึ้นไปต่อสู้ในเทือกเขาภูพาน
ในภาพเหตุการณ์ 13 ก.พ.นั้น จะเชื่อมโยงถึงสถานการณ์จากนี้ไป โดยวันที่ 16 ก.พ. เป็นวันแรกอภิปรายไม่ไว้ววางใจ รมต. 4 คน รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย และการอภิปรายฯมีไปถึงวันที่ 19 ก.พ. แล้วลงมติ 20 ก.พ. โดยฝ่ายค้านประกาศล่วงหน้าเฉพาะการอภิปรายฯนายกฯจะใช้เวลาถึงวันครึ่ง ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือจะแบ่งสรรเวลากันไป
ขณะเดียวกัน คณาจารย์ไปเยี่ยมแกนนำราษฎร 4 คนที่ถูกขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว โดยมีการระบุถึงวันที่ 17 ก.พ.นี้จะมีการสั่งฟ้องแกนนำราษฎรในคดีเดียวกันอีก 24 คน เมื่อใช้บรรทัดฐานจากคดีของ 4 แกนนำราษฎรแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ากลุ่มราษฎร 24 คนแทบไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากไม่ให้ประกันตัวและยังถูกขังคุกอีก
สถานการณ์ถัดมา หลังการอภิปรายฯ เสร็จและวันที่ 20 ก.พ. ต้องลงมติ แล้วช่วงบ่ายกลุ่มราษฎรมีนัดล่วงหน้าชุมนุมที่สนามหลวงอีกครั้ง ดังนั้น ความตรึงเครียดจะประเดประดังเข้ามา ประกอบกับในการชุมนุมเมื่อ 13 ก.พ.นั้น แกนนำหลายคนไม่ปรากฎตัวในที่ชุมนุม ซึ่งเป็นการแบ่งคนมาจัดการชุมนุม เพราะเส้นทางจากนี้คดีจะมากขึ้น”
นอกจากนี้นายจตุพร ยังกล่าวถึง นักวิชาการ คณาจารย์ห่วงใยถึงสิทธิ์ไม่ได้ประกันตัวแล้ว อีกอย่างคดีที่ถูกฟ้องในศาลต่างจังหวัดจะยิ่งเพิ่มความลำบากมากขึ้นกับการเดินทางไปขึ้นศาลที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ รวมทั้ง ผู้ต้องหาต้องออกแบบชีวิตว่า ในคดีที่มีความหลากหลายนั้น ถ้าต้องติดคุกแล้วจะบริหารจัดการเรื่องโทษอย่างไร ซึ่งตนมองกันแบบสุดทางเลย
“ผมอยากจะบอกว่า หากชีวิตต้องติดคุก คนที่อยู่ข้างนอกต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเราได้พ้นจากเรือนจำ ดังนั้นเมื่อดูตามปฏิทินแล้ว วันที่ 17 ก.พ.นี้จะต้องเจออีกล็อตใหญ่พอสมควรอีก 24 คน
จากนั้นในวันที่ 24 ก.พ.มีนัดฟังคำพิพากษาของกลุ่ม กปปส.สำนวนคดีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 10 คน ซึ่งต้องมีการจับตาศาลจะวินิจฉัยอย่างไร ส่วนตนย้ำเช่นเดิมว่า ไม่ต้องการให้ใครติดคุกในการต่อสู้ทางการเมืองแม้แต่รายเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะพิจารณา
ในเหตุการณ์อภิปรายฯของฝ่ายค้าน ถ้าการอภิปรายฯมีพลานุภาพเมื่อเทียบกับอภิปรายฯครั้งที่ผ่านมาแล้ว คือมีประสิทธิภาพสามารถอภิปรายฯได้เข้าเป้าทุกดอกตามข้อกล่าวหา เมื่อประชาชนฟังแล้ว แม้เสียงโหวตฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่า แต่หากสวนความรู้สึกของประชาชน จะทำให้การชุมนุมในบ่ายวันที่ 20 ก.พ.คนจะออกมาเนื่องแน่น อาจเต็มพื้นที่สนามหลวงและถนนราชดำเนิน
ยกเว้นหลังจากผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติการอภิปรายฯแล้ว เกิดล้มกระดานอภิปรายฯขึ้นก่อนฝ่ายค้านจะอภิปรายฯ โดยรัฐบาลเสนอญัตติส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย ซึ่งเสียงข้างมากของรัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่นั่นหมายความว่า การอภิปรายฯก็ไม่เกิดขึ้น ผสมกับวันที่ 17 ก.พ. กลุ่มราษฎรอีก 24 คนมีเหตุต้องไปรับคดีตามชะตากรรมของแกนนำ 4 คนแรก ดังนั้นทุกอย่างจะเป็นโดมิโนกันไป”
อย่างไรก็ตาม ประธานนปช. ยังกล่าวตามประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าการชุมนุมขณะนี้อยู่ในช่วงปลายแล้ว เพราะเมื่อสันติวิธีถูกทำลาย จึงย่อมมองหาระยะยาวไม่ได้ เพียงแต่จะจบกันวันไหน อย่างไรเท่านั้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายทำผิดกันอย่างชัดเจน
เหตุการณ์ชุมนุม 13 ก.พ. เมื่อเกิดความไม่พอใจกันขึ้นแล้ว ภาพการโยน ขว้างสิ่งของใส่กัน ย่อมเป็นภาพที่ปรากฎขึ้นทุกการชุมนุม ส่วนการทุบตีนั้น ตำรวจไม่มีสิทธิ์ทุบตีประชาชน
“แต่มีเหตุอันน่าสงสัยอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อพื้นที่ชุมนุมเต็มไปด้วยกล้อง แต่ทั้งฝ่ายชุมนุมและตำรวจต่างพยายามอธิบายแบบหนักๆกันเลย ผมในฐานะผู้ผ่านการชุมนุมมาแล้ว จึงพอรู้ว่า การแทรกแซงมีอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาดกันอยู่แล้ว ดังนั้น การชุมนุม 20 ก.พ.นี้ คงคลุ้งกลิ่นไอคาวเลือดปน และผมเชื่อว่าจะปิดฉากการชุมนุมนี้คงใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว
แม้มีการพยายามอธิบายตามหลักสันติวิธี แต่เมื่อสันติวิธีถูกทำลายแล้ว จะเกิดความสับสน วุ่นวาย ไม่รู้จะฟังใคร จนไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์กันได้อีกต่อไป ยิ่งถ้าฝ่ายค้านได้อภิปรายฯแล้ว และประชาชนมีความเชื่อตามฝ่ายค้านอีก ตนคิดว่าอารมณ์ตามเส้นแบ่งบางๆ มันอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดโรคแทรกเข้าไปผสมสถานการณ์ได้ที่สุด
การชุมนุมของประชาชนมักเกิดโรคแทรกในช่วงปลายเสมอ เพราะภูมิต้านทานและสมาธิน้อยลง ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเกิดจุดแทรกอย่างเป็นระบบ ดูเหมือนเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ ผมยืนยันว่า การปฏิบัติการในชุดลักษณะอย่างนี้ มีอยู่ในทุกการชุมนุม ถึงที่สุดผมยังย้ำไม่ต้องการให้การชุมนุมของ ประชาชนต้องเกิดบาดเจ็บ ล้มตายกันอีก”
อีกอย่าง เห็นภาพประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟนไปขึ้นทะเบียนกับ ธ.กรุงไทยแล้ว ได้สะท้อนถึงเศรษฐีมาบริหารประเทศไม่เข้าใจประชาชนที่ยากจน ทั้งที่เคยทักทวงให้จ่ายเยียวยาเป็นเงินสด แต่รัฐบาลกลับไม่ไว้วางใจประชาชน พร้อมยังสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนซ้ำเติมไปอีก
ดังนั้น หลายเรื่องดังกล่าว ได้สะท้อนถึงปัญหาต่างๆ ถ้าฝ่ายค้านได้อภิปรายฯ และเนื้อหาการพูดอภิปรายฯในสภาตรงเป้ามีประสิทธิภาพ ประชาชนเชื่อถือ อีกอย่าง ในสถานการณ์ 20 ก.พ. ตนมั่นใจว่า ผู้อำนวยการสร้างต้องการปิดฉากในวันนี้ แต่เราต้องการให้จบอย่างสันติวิธี โดยไม่มีกลิ่นคาวเลือด ด้วยเหตุนี้ จึงควรตรวจสอบเหตุการณ์ 13 ก.พ.อย่างตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ตำรวจไม่มีสิทธิ์ทำร้าย ประชาชนและ ประชาชนก็ไม่สิทธิ์ไปทำร้ายตำรวจ”
กระนั้นนายจตุพร ยังย้ำทิ้งท้ายไว้ให้ติดตามว่า ระยะจากนี้ไปถึงวันที่ 20 ก.พ.จะเต็มไปด้วยเรื่องราว และการต่อสู้ทางการเมืองต้องได้รับการปฏิบัติ ส่วนโรคแทรกไม่ควรเกิดขึ้น ใครผิดก็ผิด ขณะที่ถ้าการอภิปรายฯของฝ่ายค้านมีคนเชื่อ พร้อมกับมีการจับกุมแกนนำอีก 24 คน ดังนั้น การชุมนุมวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จึงน่ากังวล และจะปิดฉากลงด้วยสันติวิธีหรืออาจ คลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดปน