องค์กรต้านโกงทวงถาม?!? ล้มประมูลสายสีส้ม 1.28 แสนลบ.ไม่รอศาลตัดสิน ทำลายเชื่อมั่นนักลงทุน ใครต้องรับผิดชอบ??

1595

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มองการที่รฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินว่า การแก้TOR การประมูลใหม่ทั้งๆที่ขายซองเอกชนไปแล้วนั้นถูกต้องหรือไม่  แม้กฎหมายเปิดช่องเป็นอำนาจทำได้ แต่ดูไม่เหมาะสม เพราะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการร่วมทุนกับหน่วยงานของรัฐ ส่วนการแก้ไขค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว แม้ถ้ารัฐบาลเลือกแนวทางต่อสัมปทานเพื่อแลกให้เอกชนแบบหนี้แทนก็ต้องตอบคำถามประชาชนได้ชัดเจนว่า ประเทศจะได้ประโยชน์อย่างไร

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศยกเลิกประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยไม่รอคำสั่งศาลปกครองตัดสินว่า ถือเป็นการกระทำที่ไม่สง่างาม ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนโครงการของรัฐบาล รวมถึงประชาชนก็อาจจะสงสัยต่อการล้มประมูลดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าการล้มประมูล รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย แต่การที่ไม่ล้มประมูลแต่แรกจนเกินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีการเปลี่ยนเปลงทีโออาร์กลางคัน โดยนำคะแนนเทคนิคมาพิจารณาควบคู่กับคะแนนราคา ซึ่งศาลยังไม่ตัดสินออกมา สุดท้ายก็ล้มประมูลทำให้เกิดคำติฉินนินทาได้ ว่าดูไม่โปร่งใส

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมองว่ารัฐบาลควรจะต้องหาผู้รับผิดชอบต่อความล่าช้าที่เกิดขึ้น เพราะทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ว่าเกิดจากหน่วยงานใด และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ 

เพราะก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณได้รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐมีความล่าช้ากว่าแผนงานมาก โดยมีหลายโครงการที่ประมูลไม่สำเร็จ มีการแก้ไขทีโออาร์ เป็นปัญหาต่อการขับเคลื่อนประเทศ แทนที่จะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเดินหน้า กลับล้าช้ากว่าเดิม ดังนั้นแม้ว่ารฟม.จะเป็นรัฐวิสาหกิจ และการประมูลเป็นเอกชนร่วมทุน (พีพีพี) แต่เมื่อล่าช้าก็น่าจะมีหน่วยงานที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำเหมือนลืมๆกันไป นั่นไม่ถูกต้อง

ส่วนการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น มองว่าแนวทางใดก็ได้ที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ หากต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี ทางกทม.ก็ต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ทำไมถึงต้องต่อเร็วกว่าสัมปทานเดิมจะหมดในอีก 7 ปี ถ้าตอบคำถามตรงนี้ได้ ก็สามารถต่อสัมปทานเพื่อประโยชน์ของประชาชนตามที่อ้างได้

 

ปัจจุบันปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมองว่า เป็นภาพความขัดแย้งของการเมือง 2 ขั้ว มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจ มากกว่าที่จะมองถึงรายละเอียดของสัญญาว่าให้อะไรกับประชาชนบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายสาธาณณะประเทศว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลมีนโยบาย อาศัยการขับเคลื่อนโครงการเม็กกะโพรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เป็นแกนหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม  ต้องแสดงถึงหลักเกณฑ์และการปฏิบัติที่โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ล่าสุดศาลปกครอง อนุญาตให้ รฟม. ถอนอุทธรณ์ข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ แล้ว พร้อมลุยยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดีออกจากสารบบ 

ส่วน BTS แจงว่าจะตัดสินใจชัดเจนภายในสัปดาห์นี้จะถอนฟ้องหรือไม่ และว่าหากมีการประมูลโดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่คงไม่ร่วมประมูล