บีทีเอสร้องศาลปกครอง!!! ค้านรฟม.ประมูลสายสีส้ม1.4 แสนล้าน เปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ ทั้งขายซองไปแล้วไม่เป็นธรรม?!?

1697

รฟม.รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.แหวก ‘กติกา’เดิมการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน อ้างที่ผ่านมาพิจารณาไม่รอบคอบ แบบนี้รัฐบาลได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่บริษัทเอกชนต่างซื้อซองไปแล้ว เห็นว่าเสียเปรียบเพราะประกาศเปลี่ยนเกณฑ์ภายหลัง บีทีเอสจึงร้องศาลปกครองค้านเกณฑ์ใหม่ ชี้ไม่เป็นธรรมกับรายอื่น ทำเอกชนผู้เสนอขอเปลี่ยนเกณฑ์ได้เปรียบ ส่อแววไม่โปร่งใสเพราะใช้ดุลพินิจคณะกรรมการมาตัดสิน ทำเกณฑ์ชี้วัดไม่นิ่ง

จากกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ส่งหนังสือไปยังเอกชน 10 รายที่ซื้อซองประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเดินรถสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงค์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เพื่อแจ้งการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณา คัดเลือกเอกชน(Request for Proposal Documents : RFP)โดยให้นำคะแนนด้านเทคนิค มาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนในสัดส่วน 30% ต่อ 70% นั้น

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศปรับหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเอกชนในโครงการดังกล่าว จากเดิมพิจารณาเฉพาะข้อเสนอด้านราคา 100% ปรับเป็นข้อเสนอด้านเทคนิค 30% ด้านราคา 70%   บริษัทฯ ยืนยันว่าการปรับหลักเกณฑ์ภายหลังจากขายซองข้อเสนอไปแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะเอกชน 10 ราย ซื้อซองไปแล้ว และได้ประกาศชื่อผู้ซื้อทั้งหมดแล้ว ทำให้ทราบได้ว่าเอกชนแต่ละรายมีความถนัดอย่างไร

“เราได้ทำหนังสือร้องไปยัง สคร. คนร. คณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม. เพื่อขอความเป็นธรรมกับการเปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาครั้งนี้ เพราะมาเปลี่ยนหลังจากขายซองไปแล้ว และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ ซึ่งบีทีเอสเราก็ยืนยันว่าไม่เป็นธรรม ก็ต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอน เรื่องกระบวนการศาลก็อยู่ในขั้นตอนพิจารณา แต่หากท้ายที่สุดต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ บีทีเอสก็ยืนยันที่จะเข้าร่วมประมูล”

ขณะเมื่อเปลี่ยนเกณฑ์บริษัทเอกชนรายอื่นที่ไม่ได้ยื่นขอเปลี่ยนเกณฑ์ก็ไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนมาเพิ่มได้ ทัน เพราะผู้ร่วมยื่นประมูลจะต้องเป็นผู้ซื้อซอง เนื่องจากขณะนี้ รฟม.ปิดขายซองไปแล้ว โดยมีผู้ซื้อเอกสารไปจำนวน10 ราย ผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน 10 บริษัท ได้แก่ 

  1. บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) 3. บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 4. บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) 5. บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 6. บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) 7. บมจ. ช.การช่าง (CK) 8. บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด 10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

ใครได้เปรียบ-ใครยื่นขอเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่

  • อิตาเลียนฯชง รฟม.รับลูกมีเหตุผลว่าแต่เดิมไม่ใช้เกณฑ์แบบนี้ อาจไม่รอบคอบ เห็นว่าเกณฑ์แบบนี้รัฐบาลได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า
  • ลำดับเหตุการณ์การปรับเปลี่ยน RFP โครงการนี้ พบว่าเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวน ‘วิธีการประเมินข้อเสนอ’ การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุตอนหนึ่งว่า

“…ไม่ควรให้พิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ…”

-หลังจากได้รับหนังสือเพียง 6 วัน ในวันที่ 13 ส.ค.2563 ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. แทงหนังสือหนังสือ ที่ กค 0820.1/4810 ถึงผู้ว่าการ รฟม. โดยมีเนื้อหาว่า ขอให้คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โครงการฯ นำข้อเสนอของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

วันที่ 21 ส.ค.2563 ภคพงศ์ เผยกับสื่อคงไม่สามารถนำการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นนี้ไปเทียบกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่เสนอขอเงินอุดหนุนค่างานโยธาจากรัฐต่ำสุด และเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด เป็นผู้ชนะประมูล เพราะโครงการนี้เน้นภาพรวม คือ ผู้ที่มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุด”

จากที่มาที่ไปข้างต้น แม้ว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะมีเหตุผลและมีที่มาที่ไป แต่การที่ ผู้ว่ารฟม. ระบุว่า สาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาเพราะ ‘อาจจะคิดไม่ครบถ้วน’ นั้น ทำให้เอกชนตั้งข้อสงสัยว่ามี ‘ใบสั่ง’ หรือไม่

เพราะหลังจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หนังสือถึง สคร. ขอให้ทบทวน ‘วิธีการประเมินข้อเสนอ’ ในวันที่ 7 ส.ค.2563 เพียง 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ หรือในวันที่ 21 ส.ค.2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 ก็มีมติปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการฯ ตามมา 

หากจำกันได้ในช่วงเดือนก.ย.2562 โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เคยสร้าง ‘รอยร้าว’ ในพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว หลัง อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม สั่งการ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้แยกสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ เป็น 2 สัญญา จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘เอื้อประโยชน์’ เอกชนบางรายหรือไม่ สุดท้ายต้องกลับมารวมเป็น ‘สัญญาเดียว’ เช่นเดิม หลังมีการทักท้วงจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.