ศบศ.เคาะมาตรการ”คนละครึ่ง”!?! เริ่ม 16 ตค.กระตุ้นใช้จ่าย สั่งสภาพัฒน์ฯเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน 7 โครงการฟื้นฟูระยะยาว

1700

ศบศ.มีมติเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนมาตรการ”คนละครึ่ง” 16 ตุลาคมนี้ เริ่มใช้จ่าย 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม2563 โดยรัฐบาล จะจ่ายเงินสมทบให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ 50% ในวงเงินสูงสุด ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน นำไปใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในช่วงปลายปี และเห็นชอบสภาพัฒน์เร่งเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน 7 โครงการ รองรับการพัฒนาระยะกลางและระยะยาวด้วย

วันนี้ (16 ก.ย.2563) ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19หรือ ศบศ. เห็นชอบหลักเกณฑ์ มาตรการ “คนละครึ่ง” โดยภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์ โดยใช้วิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) 50 % ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือ ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งร้านค้า จะหักเงินของผู้ใช้ไป 50 บาท ส่วนที่เหลือ 50 บาท รัฐบาลเป็นฝ่ายจ่ายให้แก่ร้านค้า เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย ในสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10 ล้านคน ผู้ที่ได้รับสิทธิ ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันที่ลงทะเบียนและมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยใช้เงินจากพระราชกำหนด กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

สำหรับร้านค้าที่จะเข้าร่วมมาตรการนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อ ที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ มีกลุ่มเป้าหมายร้านค้าประมาณ 100,000 ร้าน โดยจะเปิดให้ร้านค้า ลงทะเบียนเข้าร่วม ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 หรือ แจ้งผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมศบศที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เสนอ

ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้คนมีงานทำ สามารถยังชีพอยู่ได้ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

ศบศ.เห็นชอบกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมเฉพาะกิจดังนี้

1.เห็นชอบมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไป ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน และ
(2) โครงการคนละครึ่ง ภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์โดยอาศัยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) ร้อยละ 50 ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป(ไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ)

 2. เห็นชอบการเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย
(1.1) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่ต้องการการผลักดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา EIA การทบทวนแบบรายละเอียดและ
(1.2) โครงการระบบขนส่งมวลชน ที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องการเร่งจัดทำรายงานPPP เร่งศึกษาทบทวนการออกแบบ จัดทำรายงาน EIA การใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ แหล่งเงินลงทุนโครงการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีของภาคเอกชน
(1.3) โครงการทางพิเศษ ที่ต้องการเร่งรัดกระบวนการเตรียมความ พร้อมโครงการ การอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน เร่งเจรจาการลงทุนโครงข่าย Missing Link รวมถึงการเร่งเตรียมความพร้อมโครงการให้สามารถลงทุนก่อสร้างได้ตามแผน
(1.4) โครงการพัฒนาท่าเรือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการเตรียมความพร้อมโครงการ และเร่งรัดกระบวนการเจรจาและประกาศผู้ชนะการประมูลโครงการร่วมลงทุน
(1.5) การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำมาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ อาทิ การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในการลงทุน และการกำหนดเงื่อนไขการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ

(1.6) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์ รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ
(1.7) โครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการตามรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการเตรียมความพร้อมโครงการ และ เสนอต่อคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

การปรับปรุงโครงสร้างหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ (i) การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและสำนักงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (ii) การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อการพาณิชย์ (iii) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อบริหารรถไฟความเร็วสูง และ (iv) การประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟ และการจัดทำทะเบียนรถขนส่งทางราง

การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายลงทุนและการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2563-2564 อาทิ การปรับปรุงบริหารเงินกองทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ได้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงแผนการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจ และ

การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ของโครงการสะพานไทย