จากที่ อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่นๆได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพที่ทำรัฐประหารโดยฝีมือของผู้นำทหาร พลเอก Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น
ขณะเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า Dr.x ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ โดยระบุถึงความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐประหารพม่ากับอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเนื้อหาระบุว่า แห่ประณามรัฐประหารเมียนมา ลืมสัมพันธ์ลึก “ทักษิณ – มิน อ่อง หล่าย” คบไว้โกยผลประโยชน์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เสนอหน้าประณามรัฐประหารเมียนมากันยกใหญ่ หวังตีกินกระทบรัฐบาลไทย
“หลงลืมความเป็นจริงที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังมีความสัมพันธ์ประเภทผิดฝาผิดตัวอยู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีของไทย อีกด้วย”
ทั้งนี้ในความสัมพันธ์ของอดีตนายกฯไทยกับผู้นำเมียนมา พบว่าไม่ได้มีเพียงพล.อ.มิน อ่อง หล่าย หากแต่ในอดีตที่ผ่านมาครั้งที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำนั้นยังมีความสัมพันธ์อันถูกเปิดเผยออกมาว่า มีความเกี่ยวข้องอยู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจครอบครัวกับทางการเมียนมาที่มีผู้นำเป็นรัฐบาลทหารในขณะนั้นด้วย
เช่น คดีปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยกรณีเห็นชอบให้อนุมัติปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า (เมียนมา) เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บริษัท ชินแซทเทอร์ไลท์ ฯที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร โดยศาลพิพากษาจำเลยมีความผิด สั่งจำคุก 3 ปี
นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณ กับผู้นำพม่า ที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 โดยนายยาน วิน โฆษกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรคฝ่ายค้านสำคัญของพม่าในขณะนั้น เปิดเผยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับนางอองซาน ซูจี ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตไทย ในนครย่างกุ้ง ช่วงเย็นวันอังคารที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยได้หารือกันเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่มีการหารือกัน
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้โอกาสหลังการประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) ณ กรุงเนปิดอว์ เดินทางมายังนครย่างกุ้งเพื่อพบปะกับนางซูจี
ต่อมาวันที่ 20 ธ.ค. 2554 วันเดียวกัน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยศขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์พิเศษโดยยอมรับว่าใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว ประสานกับทางการพม่าเพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนไม่แน่ใจว่าพ.ต.ท.ทักษิณพูดจริงหรือไม่ หรือต้องการสร้างเครดิตให้กับตัวเอง แต่การที่พ.ต.ท.ทักษิณมีสถานะเป็นนักโทษและกำลังหลบหนีคดี และรัฐบาลใช้สถานะดังกล่าวเพื่อประสานเข้าพบนางอองซาน เท่ากับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันสิ้นไร้ไม้ตอก
“นายกฯไม่จำเป็นต้องใช้ความสัมพันธ์ของพ.ต.ท.ทักษิณในการประสานเพื่อขอเข้าพบนางอองซาน เพราะประเทศไทยก็มีกระทรวงต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวก็มีขีดความสามารถในการประสานได้ ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ตนไม่ทราบว่าจุดประสงค์เพื่อเจรจาสานต่อในเรื่องการลงทุนที่เคยผ่านมาในอดีตหรือไม่” นายชวนนท์ กล่าว
จากนั้นสื่อก็โหมประโคมข่าว โดยอ้างสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทางโทรศัพท์ และยืนยันว่าตนเองได้เดินทางไปยังพม่า พบปะกับพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าเมื่อวันพฤหัสที่ 15 ธันวาคม 2554 เพื่อปูทางก่อนการเยือนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำจีเอ็มเอส ณ กรุงเนปิดอว์
และอดีตนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่าการเดินทางเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์จะมีการเจรจากับฝ่ายพม่าในประเด็นต่างๆรวมทั้งข้อตกลงด้านพลังงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย
นอกจากนี้สื่อต่างประเทศ ยังวิจารณ์ว่าการดำเนินการดังกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เกิดความกังวลว่าการสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ในอนาคตอาจจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของพ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้ง
รวมทั้งยังมีแหล่งข่าวด้านการทูตเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวในขณะนั้นด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเยือนพม่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้าการเดินทางเยือนพม่าเพื่อแนะนำตัวในฐานะผู้นำประเทศคนใหม่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยในครั้งนั้นพ.ต.ท.ทักษิณได้พบปะหารือกับพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำพม่าด้วยเช่นกัน
นอกจากความสนใจในการขอสัมปทานสำรวจและพัฒนาแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบนดินและในชายฝั่งทะเลพม่าแล้ว ประเทศไทยยังให้ความสนใจในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายทางตอนใต้ของพม่า ที่มีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเส้นทางถนนไปยังท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังท่าเรือน้ำลึกผ่านทางถนน รถไฟ และ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่จะมีการพัฒนาต่อไป
แม้ไม่ปรากฏชัดเจนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความเกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าว หรือมีการเสนอโครงการธุรกิจอื่นใดในพม่า แต่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยรายดังกล่าว ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองในกิจการที่เกี่ยวข้องกับพม่าตามคดีความที่ถูกตัดสินให้จำคุก
โดยย้อนไปในปี 2547 บริษัทชินวัตร แซทเทิลไลท์ หนึ่งในธุรกิจในเครือชินวัตร ได้ให้บริษัท บากัน ไซเบอร์เทค ซึ่งเป็นธุรกิจของบุตรชายพลเอกขิ่น ยุ้น อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม ซึ่งในภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าพ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้ช่องทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยในการกดดันพม่าให้ยอมรับเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านบาทเพื่อจ่ายค่าตอบแทนในสัญญาที่บริษัทของบุตรชายอดีตนายกพม่าทำไว้กับบริษัทชินวัตร แซทเทิลไลท์ นั่นเอง
ทั้งต่อมายังมีหลักฐานยืนยันการเข้าพบครั้งนี้เป็นภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เจ้าตัวกำลังรดน้ำผู้บัญชาการทหารแห่งพม่า ณ บ้านพักตากอากาศเขตเมย์เมียว (Maymyo) เมืองหุบเขา แห่งมัณฑะเลย์ด้วย
แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการเข้าพบดังกล่าว นอกเหนือจากระบุว่าเป็นการเยี่ยมเยียนทักทายและสวัสดีปีใหม่ตามธรรมเนียม ประสาคนรู้จักมักคุ้น แต่ก็มีรายงานจากนักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า การพบกันครั้งนี้ ได้ส่งผลให้อดีตผู้นำประเทศไทยอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ มีโอกาสเข้าพบพล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดของประเทศพม่า
กระนั้นเองจากการตรวจสอบตามประวัติ พล.อ. มินอ่องหล่าย ก็พบมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นผู้นำรัฐประหารครั้งล่าสุดแล้ว ยังพบว่าเป็นนายทหารที่มีผลงานโดดเด่นอย่างมาก และได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย อดีตผู้นำประเทศ และผู้นำทหารสูงสุดของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นในปี 2553 พล.อ. มินอ่องหล่าย ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็น พล.ท. ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง ก่อนที่ในปี 2554 จะได้รับการสืบทอดตำแหน่งจากพล.อ.อาวุโส ตานฉ่วยให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทัพจนถึงปัจจุบัน