ถลกลึกทักษิณ-พม่า ย้อนคดีเอ็กซิมแบงก์ 4 พันล้าน ผลประโยชน์ร่วมรบ.ทหาร-ธุรกิจครอบครัว?

4053

จากที่ อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่นๆได้ถูกควบคุมตัว เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา นำมาซึ่งรัฐประหารโดยฝีมือของผู้นำทหาร พลเอก Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ขณะเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า Dr.x ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ โดยระบุถึงความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐประหารพม่ากับอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเนื้อหาระบุว่า  แห่ประณามรัฐประหารเมียนมา ลืมสัมพันธ์ลึก “ทักษิณ – มิน อ่อง หล่าย” ขึ้นไอ้-ขึ้นมัน พูดชดคบไว้โกยผลประโยชน์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เสนอหน้าประณามรัฐประหารเมียนมากันยกใหญ่ หวังตีกินกระทบรัฐบาลไทย

“ยิ่งชื่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา และหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ถูกสื่อไทยพยายามเชื่อมโยงสายสัมพันธ์กับ พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ ที่เป็นพ่อบุญธรรม ก็ยิ่งประณามกันสนุกปาก

หลงลืมความเป็นจริงที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังมีความสัมพันธ์ประเภทผิดฝาผิดตัวอยู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีของไทย อีกด้วย”

ทั้งนี้ในความสัมพันธ์ของอดีตนายกฯไทยกับผู้นำเมียนมา พบว่าไม่ได้มีเพียงพล.อ.มิน อ่อง หล่าย หากแต่ในอดีตที่ผ่านมาครั้งที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำนั้นยังมีความสัมพันธ์อันถูกเปิดเผยออกมาว่า มีความเกี่ยวข้องอยู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจครอบครัวกับทางการเมียนมาที่มีผู้นำเป็นรัฐบาลทหารในขณะนั้นด้วย

ย้อนไปวันที่ 23 เม.ย.62 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะคดีปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย

“ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรืออละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 157”

กรณีที่นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เห็นชอบให้ ธนาคาร เอ็ก- ซิมแบงก์ อนุมัติปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า (เมียนมา) ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และเพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บริษัท ชินแซทเทอร์ไลท์ ฯที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค.51 องค์คณะฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.3/2551 แล้วนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อจะสอบคำให้การนายทักษิณ ในวันที่ 16 ก.ย.51 แต่ปรากฏว่าขณะนั้น “นายทักษิณ” ไม่มาศาลเนื่องจากหลบหนีไปต่างประเทศในคดีอื่นแล้ว องค์คณะฯ จึงมีคำสั่งออกมายจับให้ติดตามตัวนายทักษิณมาดำเนินคดีนับตั้งแต่นั้น

กระทั่งปี 2561 ป.ป.ช.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้นำคดีดังกล่าว ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจาก นายทักษิณ จำเลย หลบหนีไปพำนักต่างประเทศ ขึ้นพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 28 บัญญัติสาระสำคัญว่า

“ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตาม มาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล และมีการออกหมายจับจำเลยแล้วยังไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา”

กระทั่งวันที่ 4 ก.ค.61 องค์คณะได้พิจารณาคดีครั้งแรกนี้ใหม่ โดย นายทักษิณ จำเลย ไม่แต่งตั้งผู้ใดรับมอบอำนาจมาศาลแทน เมื่อนัดพิจารณาครั้งแรก “นายทักษิณ” จำเลย ไม่มาศาล ศาลถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม วิ อม. มาตรา 33 (บัญญัติว่าในวันพิจารณาครั้งแรก ในกรณีที่จำเลยมิได้มาศาล ในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี)

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาฯได้ดำเนินการไต่สวนพยานของ ป.ป.ช.โจทก์ โดยไม่มีตัวจำเลย และพยานจำเลยมานำสืบหักล้างต่อสู้คดีแต่อย่างใด องค์คณะผู้พิพากษาจึง พิพากษาว่า “นายทักษิณ” จำเลย มีความผิดตามมาตรา 152 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อไป

“ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี”

หากยังจำกันได้ นายทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า เป็นหนึ่งในคดีสำคัญหลายคดี ที่คณะกรรมการ คตส. ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ของ รัฐบาลนายทักษิณ หลังการเข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2549

โดยที่มาที่ไปของคดีรัฐบาลไทยให้เงินกู้พม่า 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และรัฐบาลไทยต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่เอ็กซิมแบงก์ ในระยะเวลา 12 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้นมากถึง 670,436,201.25 ล้านบาท แต่มีปัญหาถูกตรวจสอบพบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ครั้งนั้นได้รับการแย้งจาก ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่กล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของพม่าว่า ไม่สมควรจะมีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะกับประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ) เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง

แต่หลังจากนั้นไม่นาน กลับมีการขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 ล้านบาทเป็น 4,000 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติพม่าได้มีหนังสือขอกู้เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมรวม 3 โครงการเป็นเงิน 962 ล้านบาท ซึ่งมีการระบุผู้ขายสินค้าและบริการอย่างชัดเจนว่า คือ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

หลังจากนั้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 กระทรวงต่างประเทศสหภาพพม่าจึงได้มีหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 เป็น 5,000 ล้านบาท ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สั่งการให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ทำหนังสือตอบทางพม่าโดยให้กู้เพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 และพร้อมจะอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยบางส่วนที่พม่าต้องจ่ายตามข้อเสนอของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ซึ่งกรณีดังกล่าว ทำให้เอ็กซิมแบงก์มีผลขาดทุนที่ต้องขอให้รัฐบาลชดเชยตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 ตลอดอายุสัญญากู้ 12 ปี เป็นเงิน 670,436,201.25 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องชดเชยให้แก่ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ด้วยงบประมาณแผ่นดิน