กองทัพเมียนมาไม่หวั่นต.ต.รุมคว่ำบาตร?!?พลเอกมิน อ่อง หล่ายประกาศกระชับอำนาจขอเวลา 1 ปีสางทุจริต ขณะจีนและอาเซียนหนุนเจรจาแก้ปัญหาด้วยสันติ

3356

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ทำโลกสะเทือนและจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สหรัฐเต้นก่อนใคร ตามมาด้วยUN และพันธมิตรตะวันตกที่เชิดชูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกันอย่างหลับหูหลับตา  โครงสร้างประชากรในเมียนมา มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและมีความขัดแย้งตึงเครียดกันมาตลอด ตั้งแต่ได้รับเอกราช จากการเป็นอาณานิคมอังกฤษ (พ.ศ. 2491) กว่า 70ปี อยู่ในการดูแลของทหารมาโดยตลอด การกระชับอำนาจของกองทัพ จะเพื่อแก้ปัญหาต่างชาติแทรกแซง ความเห็นต่างในการเมืองหรือผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็ล้วนเป็นภารกิจของผู้นำเมียนมา จะจัดการเรื่องราวในประเทศ ทั้งนี้ จีนและอาเซียนวางท่าทีแค่ท้วงติงไม่แทรกแซง ต่างจากกลุ่มประเทศตะวันตก ต่างรุมประณามและขู่คว่ำบาตรไม่ยั้ง ขณะเดียวกัน พวกบ้าตำราประชาธิปไตยติดคอในเมืองไทย ทั้งพรรคการเมือง นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนม็อบคลั่ง 3 กีบ พากันตอบรับการกดดันของประเทศตะวันตกแบบหัวปักหัวปำ  วันนี้กระแสประชาธิปไตยจ๋าของอองซาน ซูจีไม่อาจสานประโยชน์กับ กองทัพที่รู้สึกไม่ไว้วางใจ และถือว่าประชาธิปไตยสุดโต่ง เป็นอันตรายกับการควบคุมความแตกต่างของชาติพันธ์ุหลากหลาย ที่ร้อยเรียงอยู่อย่างหลวมๆ และมีเงื่อนไขอ่อนไหวภายในประเทศที่ไม่อาจเปิดเผย จึงตัดสินใจเลือกหนทางนี้ ทั้งๆที่รู้ว่าจะต้องเผชิญแรงกดดันรอบทิศ

วันนี้ 2 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน พล.อ. มิน อ่อง หล่าย กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงและกลาโหมแห่งชาติ (NDSC) ชุดใหม่ ว่าแม้กองทัพจะยึดอำนาจของประเทศ แต่พวกเขาจะปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2551 และกฎหมายที่ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยกองทัพจะส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้งที่โปร่งใสต่อไป

ขณะที่กองทัพเมียนมาได้ปลดรัฐมนตรีว่าการ 24 คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ในคณะรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี สั่งลดขนาดของรัฐบาลเหลือเพียง 11 กระทรวงที่สำคัญ พร้อมทั้งแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการดำรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ กองทัพเมียนมาได้มีคำสั่งให้คณะตุลาการศาลฎีกา ในกรุงเนปิดอว์ ผู้พิพากษาศาลสูงประจำแต่ละภูมิภาค คณะกรรมการธิการต่อต้านการทุจริต และคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งเมียนมา ชุดเดิมซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว ให้กลับมารับตำแหน่งและทำหน้าที่ต่อไปได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 หลังกองทัพเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินกุมอำนาจสมบูรณ์ “อาเซียน” ได้ออกแถลงการณ์โดยประธานอาเซียน เรียกร้องเมียนมาแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี 

 

ทั้งนี้สำนักเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ณ กรุงจาการ์ตา ได้เผยแพร่เอกสารถ้อยแถลงประธานอาเซียนซึ่งในปีนี้ประเทศบรูไนทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน เกี่ยวกับพัฒนาการในเมียนมา ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ติดตามพัฒนาการณ์ของเมียนมาในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และอาเซียนคำนึงถึงวัตถุประสงค์และหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล การเคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

“อาเซียน ขอเน้นย้ำว่า เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศคือ กลไกสำคัญอันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สันติสุข เป็นปึกแผ่น และรุ่งเรือง” ในแถลงการณ์อาเซียน ระบุว่าอาเซียนยังคงสนับสนุนให้เกิดการเจรจา การปรองดอง และการคืนสู่สภาวะปกติตามเจตจำนง และผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา 

ในวันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจีนขอให้เมียนมาเร่งแก้ไขปัญหาการเห็นต่าง พร้อมจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน  

สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย รายงาน นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงการณ์จากกรุงปักกิ่งของจีน ระบุว่า จีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาและหวังว่าฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาจะแก้ปัญหาความเห็นต่างภายใต้รัฐธรรมนูญ และกรอบกฎหมาย เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม