ส.ส. ก้าวไกล โหนสุดตัว ป้อง “ธนาธร” ไลฟ์วัคซีนโควิด แค่วิจารณ์รัฐ ทำไมโดนพรบ.คอมฯ

2211

หลังจากที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 มอบหมายทีมกฎหมายไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

ซึ่งนายธนาธร ได้ไลฟ์สดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดที่พาดพิงสถาบันหลัก ผ่านเพจคณะก้าวหน้า ฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) พร้อมกับได้ยื่นให้ศาลพิจารณาการกระทำดังกล่าว

โดยในเวลาต่อมาศาลอาญาได้ตรวจสอบ พบเว็บไซต์ เผยแพร่ข้อความภาพและคลิปวิดีโอ ที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร ปรากฏใน 3 URLs และพบว่าเป็นโพสต์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและยูทูบของคณะก้าวหน้า

ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ประกอบมาตรา 20 มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ การไลฟ์สดของนายธนาธร เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย 3 URLs ดังกล่าวแล้ว

และสำหรับคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ได้ยื่นแจ้งความนายธนาธรต่อ บก.ปอท.ไว้นั้น ต้องติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.และที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบหลักฐานดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ยืนยัน เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่สามารถละเว้นได้

ล่าสุดในเพจของ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ได้ออกมาเคลื่อนไหวโพสต์ข้อความตอบโต้ถึงประเด็นนี้ ระบุว่า หากปล่อยให้เกิดการใช้กฎหมายโดยมิชอบ ขยายขอบเขตการตีความออกไปนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายแบบนี้แล้ว การวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายที่สั่นคลอน “ความมั่นคงของรัฐบาล” อย่างตรงไปตรงมาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ก็คงกลายเป็น “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ต่อไปในไม่ช้า

ตามมาด้วย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปกป้องนายธนาธร ระบุว่า “เมื่อ ธนาธรผิด พ.ร.บ.คอมฯ – ความมั่นคงของรัฐบาล ก็กลายเป็น ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

คำสั่งศาลที่ออกมานั้นอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 (1) ที่ระบุว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีดีอีเอสสามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่หรือมีคำสั่งให้ลบเนื้อหาออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ถ้าหากเนื้อหาเหล่านั้นเป็นเนื้อหาที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

ซึ่งหากทุกท่านติดตามไลฟ์สดของคุณธนาธรในวันนั้นก็จะพบว่า เป็นรายการที่มีเนื้อหาเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลตามปกติวิสัยที่ประชาชนคนไทยทุกคนพึงกระทำได้ทั้งสิ้น อาทิ การวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า การดำเนินนโยบายแบบ “แทงม้าตัวเดียว” ที่เป็นการทิ้งความหวังทั้งหมดของประชาชนคนไทยไว้อยู่กับเอกชนรายเดียว ไม่กระจายความเสี่ยง ผิดกับวิสัยที่รัฐบาลในต่างประเทศเขากระทำกัน

ดังนั้น หากพิจารณาตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่ สธ. ออกมาแถลงข่าวตอบโต้เพื่อหักล้างข้อมูลในรายการไลฟ์สดทันที ก็จะพบว่า น่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (1) หรือ 14 (2) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าความผิดฐาน “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” เสียมากกว่า ซึ่งมีเนื้อหาใจความว่า

มาตรา 14 : ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ [2]

(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา [2]

(๒) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน [2]

แต่ตามเนื้อหาข่าวจะพบว่า รัฐบาลเลือกใช้ช่องทางตามมาตรา 14 (3) แทน ซึ่งมีเนื้อหาใจความว่า

(๓) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา [2]

ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่อาศัยอำนาจตาม 14 (1) หรือ 14 (2) แทน หากข้อมูลที่คุณธนาธรหยิบยกมานำเสนอในรายการในวันนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจริง ๆ ?

หรือแท้จริงแล้วเป็นเพราะรัฐบาลพยายามปกปิด หลีกเลี่ยง การเปิดเผยพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ทราบในกรณีดังกล่าวกันแน่? สัญญาระหว่าง รัฐบาล สยามไบโอไซเอนซ์ และแอสตราเซเนกา ที่ทุกวันนี้สังคมกำลังเรียกร้องให้มีการเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสนั้นอยู่ที่ไหน ?

 

นี่หรือเปล่าที่เป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงเลือกใช้ช่องทางตามมาตรา 14 (3) ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับก่อการร้ายแทน?

หากปล่อยให้เกิดการใช้กฎหมายโดยมิชอบ ขยายขอบเขตการตีความออกไปนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายแบบนี้แล้ว

การวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายที่สั่นคลอน “ความมั่นคงของรัฐบาล” อย่างตรงไปตรงมาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ก็คงกลายเป็น “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ต่อไปในไม่ช้าเป็นแน่ครับ

 


อย่างไรก็ตามหากย้อนไปในช่วงที่นายธนาธรได้ออกมาไลฟ์เรื่องวัคซีน เจ้าตัวได้ตั้งหัวข้อว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสียประโยชน์” ซึ่งนั่นหมายความเป้าหมายของนายธนาธร ไม่ได้จงใจแค่จะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเดียว รวมทั้งยังตั้งคำถามไปถึงบริษัทสยามไบโอฯ ที่ได้รับการเลือกผลิตวัคซีน ท้าให้เปิดสัญญา ซึ่งภายหลังนายอนุทินได้แจ้งแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ และแน่นอนว่านักธุรกิจอย่างนายธนาธรย่อมทราบดีในแง่ของกฎหมาย เรื่องการเปิดสัญญา

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังบอกด้วยว่า ไม่ต้องการให้โยงเรื่องวัคซีนมาเข้ากับการเมือง เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ หากไทม์ไลน์วัคซีนเลื่อน ไม่ทันตามแผนเดิม นายธนาธรจะรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งตอนนี้การนำเข้าวัคซีนของแอสตราเซเนกา กำลังเจอกับปัญหาใหญ่ เนื่องจาก “อียู” เข้ามาควบคุมการส่งออก นั่นเท่ากับว่า มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะได้วัคซีนล่าช้า

และยิ่งในสถานการณ์ที่ทางรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งทีมคัดเลือกวัคซีนกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อเร่งเจรจากับอียู ให้คนไทยได้วัคซีนทันตามไทม์ไลน์เดิม พวกก๊วนส.ส.ก้าวไกล ก็ได้ลงมาโหนกระแสเรื่องนี้อีกครั้ง ดังนั้นความผิดคดีพรบ.คอมฯ อาจจะไม่เพียงพอที่จะหยุดนายธนาธรและก๊วนก้าวหน้า- ก้าวไกลได้ หากครั้งนี้การนำเข้าวัคซีนมีผลกระทบสืบเนื่องในเรื่องการเมืองอีก นายธนาธรก็คงทำได้แค่ออกมาโยนบาปให้รัฐบาลตามเดิม