กองทัพเมียนมา สกัดการต่อต้านรัฐประหาร ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ยกเทียบกับพวกม็อบสามนิ้ว ใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวปลุกระดมม็อบ
จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เมียว ยุนต์ โฆษกพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, อู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่น ๆ ได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมา โดยระบุว่า “ผมต้องการจะบอกกับประชาชนของเราว่าอย่าตอบโต้อย่างผลีผลาม และผมต้องการให้พวกเขาทำตามกฎหมาย” เมียว ยุนต์ กล่าวโดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคทำตามกฎหมาย และอย่ากระทำการใด ๆ ที่หุนหันพลันแล่น
การจับกุม อองซาน ซูจี เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะถล่มทลาย ต่อมาทางกองทัพเมียนมา ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน เสมือนเป็นการยึดอำนาจ แล้ว ตั้ง “รองปธน. Myint Swe” เป็น ประธานาธิบดี คุมอำนาจ 1 ปี
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา (เอ็มอาร์ทีวี) ระงับออกอากาศชั่วคราว สัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณข่ายโทรศัพท์ถูกตัด นักข่าวจำนวนมากถูกเรียกเข้าค่ายทหาร ทหารในเครื่องแบบเริ่มเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมสถานที่ราชการหลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง รวมถึงศาลว่าการเมือง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารบนท้องถนนในกรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง
โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ มีการสกัดไม่ให้เกิดการชุมนุมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร โดยทางกองทัพพม่าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัวต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการตัดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในกรุงเนปิดอและนครย่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวงเก่า ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้า ทหารได้เข้ายึดศาลาว่าการเมืองก่อนที่กองทัพจะออกแถลงการณ์ทางทีวี นอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกหลายคันที่ขนเหล่าผู้สนับสนุนกองทัพวิ่งทั่วย่างกุ้งเพื่อฉลองการยึดอำนาจ ขณะที่สมาชิกเอ็นแอลดีได้รับคำสั่งจากกองกำลังความมั่นคงให้เก็บตัวอยู่บ้าน
นอกจากนี้ ในนครย่างกุ้งมีทหารและตำรวจปราบจลาจลรักษาการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์โกลาหลที่ประชาชนรีบออกไปซื้อข้าวของจำเป็นตุนไว้ และอีกหลายคนเข้าคิวรอถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม และต่อมาไม่นานธนาคารก็พากันระงับการให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีปัญหา
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทย ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรที่มีการออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้แก้รัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการปลุกระดมกลุ่มแนวร่วมให้ออกมาชุมนุม รวมไปถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็ได้มีการสร้างวาทกรรม สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส โดยวาทกรรมดังกล่าวก็ได้มีการพูดถึงจำนวนมากในโลกโซเชียล หลายคนมองว่า เหมือนเป็นการปลุกระดมให้เยาวชนและประชาชนออกมาชุมนุม
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) กลุ่มคณะราษฎร นำโดยเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และรุ่ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และการ์ดกลุ่ม wevo ได้พากลุ่มคนชาวเมียนมา มาชุมนุมหน้าสถานทูต อ่านแถลงการณ์ ต้านรัฐประหารเมียนมา โดยกลุ่มชาวเมียนมาประมาณ 50 คน สวมใส่เสื้อ หมวก และแมสก์สีแดง เดินทางมาปักหลักชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อการก่อรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ทางกลุ่มได้นำธงที่มีสัญลักษณ์พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา หรือเอ็นแอลดี และภาพนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ในฐานะผู้นำพรรคเอ็นแอลดี มาชูก่อนปราศรัยเป็นภาษาพม่าเรียกร้องปล่อยตัวนางซูจี พร้อมประณามกองทัพเมียนมาที่ก่อการรัฐประหาร
โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ยานนาวา ดูแลความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตามมวลชนชาวเมียนมาได้ย้ายไปรวมตัวที่หน้าอาคาร ข้างสถานทูตเมียนมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูต ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประกาศขอให้ทางกลุ่มยุติ แต่การ์ด wevo ของม็อบราษฎรที่นำโดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ ไม่ยอมเลิกทั้งยืนกรานจะชุมนุมต่อ
จนเวลาประมาณ 17.00 น. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมโล่และกระบองจึงได้เข้าสลายการชุมนุมม็อบราษฎร โดยตั้งแถวเคลื่อนขบวนมาจาก ถ.ปั้น ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างตำรวจ และกลุ่ม wevo ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ข้าวของต่างๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และขณะที่ตำรวจเคลื่อนขบวนบีบเข้ากระชับพื้นที่ ก็เกิดเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน บาดเจ็บ 2 นาย ขณะเดียวกัน ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ 3 คน พร้อมเดินหน้ากระชับพื้นที่ไปบนถนนสาทร ผลักดันผู้ชุมนุมไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์จนเกิดการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่และมีการขว้างระเบิดควันสีใส่ตำรวจด้วย