เอ็กซิมแบงก์ยันปี 64 ส่งออกโต 2.5-4%!?! เด้งรับหลายประเทศทุ่มงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะคลังอัดฉีดทุน1.5หมื่นล.บาท เพิ่มสภาพคล่องอุ้มผู้ส่งออก

1715

วันนี้นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)หรือ เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2564 นี้ประเมินว่าจะมีอัตราการขยายตัวได้ที่ประมาณ 4% ขณะที่การค้าโลกจะเติบโตได้ที่ประมาณ 5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายๆประเทศ ที่พยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนในหลายประเทศ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ โดยคาดว่าภาคการผลิตจะฟื้นตัวได้ดีกว่าภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว ล่าสุดก.การคลังได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติงบเพิ่มทุน จำนวน 15,000 ล้านบาทเพื่อขยายสินเชื่อดูแลเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออก โดยจะแบ่งตัวเงินเป็นสองช่วง ครั้งละ 7,500 ล้านบาท

 สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโดยรวมมองว่าจะมาจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน ข้อจำกัดในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้สาธารณะมีระดับที่สูงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องเริ่มมีแนวโน้มลดลง อาจทำให้ใช้เวลาในการฟื้นฟูช้าลง

 

ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.2% ภาคการส่งออก ขยายตัวได้ที่ประมาณ 2.5-4% โดยการส่งออกของไทยจะกลับมาเป็นบวก มาจากปัจจัยที่สนับสนุนมาจากฐานการส่งออกของปีที่ผ่านมาต่ำ และบรรยากาศการค้าโลก เริ่มผ่อนคลาย

นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า ในปี 2564 นี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจของไทย รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคาร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาธนาคารได้มีการออกมาตรการเพื่อเป็นการฟื้นฟูกิจการและออกมาตรการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง รวมถึงขยายระยะเวลาอนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มการผลิตในระยะยาว

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปี (2558-2563) ธนาคารมียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อขยายตัว 84% จาก 73,540 ล้านบาท เป็น 135,228 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี ซึ่งเป็นยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้น 86% จาก 16,883 ล้านบาท เป็น 31,461 ล้านบาท ขณะที่จำนวนลูกค้ามีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 163% จาก 1,631 ราย เป็น 4,282 ราย เติบโตเฉลี่ย 21% ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้น 194% จาก 1,192 ราย เป็น 3,507 ราย เติบโตเฉลี่ย 24% ต่อปี

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2563 ที่ผ่านมาธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 135,228 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13,360 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 11% แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 36,093 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 99,135 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ รวม 168,035 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณธุรกิจของเอสเอ็มอี 60,689 ล้านบาทและธนาคารมีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 93,622 ล้านบาท

ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ธนาคารสนับสนุนให้ SMEs ไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ณ สิ้นปีที่แล้ว ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อให้ SMEs ไทยที่ต้องการส่งออก คิดเป็นจำนวนราย 3.5 พันราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2558 ที่มีอยู่ 1.2 พันราย หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 21%

ลูกค้า SMEs ที่ส่งออก ที่ธนาคารให้การสนับสนุน คิดเป็นการส่งออก เป็นสัดส่วน 15% ของ SMEsไทยที่เป็นผู้ส่งออกทั้งหมด ซึ่ง SMEs ไทยที่มีความสามารถส่งออก มี 3.5 หมื่นราย อย่างไรก็ตามธนาคารตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกของลูกค้า SMES จาก 15% เป็น 30%

ในส่วนของการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทย ขยายการค้าและการลงทุนไปในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี สิ้นปี 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.97 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีอยู่ 2.60 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9%

ด้านการป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ มีบริการประกันความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาขยายตัวมาโดยตลอดเฉลี่ยปีละ 15% ณ สิ้นปีที่แล้วมียอดประกันการค้าและการส่งออก สะสมเป็นมูลค่า 1.35 แสนล้านบาท