คลังเตรียมกระสุนสู้โควิดเต็มพิกัด!?! ปี64 เตรียมกู้ครบ 1 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะ 56% ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง

1650

คลังยันรัฐบาลมีเงินพอรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่แน่นอน สบน.ปรับแผนกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ให้ครบ 1 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะแตะระดับ 56% ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง ประเดิมกู้ 2.1 แสนล้านบาท สำรองใช้โครงการ “เราชนะ” ใช้เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 พร้อมออกพันธบัตรพิเศษรุ่น “เราชนะ” 2 รุ่นมูลค่า 60,000 ล้านบาท

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา สบน. กู้เงินผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ส่วนที่เหลือจะมากู้ในปีงบประมาณ 2564 โดยหากกู้เงินทั้งหมดครบ 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้หนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ระดับ 56% ภายใต้การประเมินจีดีพีมีการหดตัว 1% จากโควิด-19 รอบใหม่เข้ามา ซึ่งกรอบหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 60% ของจีดีพี

“ขณะนี้สถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ต้องมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่หนี้สาธารณะของไทยยังถือว่าดีกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะ 50% เป็นหนี้ของรัฐบาลที่รับภาระแค่ 40% อีก 10% เป็นของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกรอบ ซึ่งไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ ฉะนั้นต้องมาดูว่าภาระงบประมาณจริง หนี้สาธารณะของเราต้องใช้ตัวเลข 40% เมื่อเทียบกับสากล แต่ก็ปฏิเสธเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงินเข้ามาช่วยโควิด-19 ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี ก็จะไม่มีเม็ดเงิน เช่น อเมริกา ก็กู้เหมือนกัน”นางแพตริเซียกล่าว

ในปีงบประมาณ 2564 สบน.มีแผนการก่อหนี้รวมทั้งหมด 2.3 ล้านล้านบาท โดยใช้เครื่องมือผ่าน พันธบัตรรัฐบาล 8.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 36% , ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) 5.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 22% , ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) 8.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 35% , พันธบัตรออมทรัพย์ 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 5% และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) วงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2%

ถ้าสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ขณะนี้ก็ยังมีวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ยืนยันว่ารัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอในการดูแลประชาชน เพราะนอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินจากงบกลางและอื่น ๆ ส่วนจะใช้เม็ดเงินจากส่วนใดมาดูแล ก็เป็นเรื่องของสำนักงบประมาณที่จะต้องดูในเรื่องงบกลาง หากไม่ใช้งบกลาง สบน.ก็มีเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน

ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินไปแล้ว 711,607 ล้านบาท โดย สบน.กู้ไปแล้วทั้งสิ้น 393,761 ล้านบาท คิดเป็น 39% และจะทยอยกู้ไปเรื่อย ๆให้ครบวงเงินอนุมัติ โดยแบ่งเป็น 

1.แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติกรอบแล้ว 19,698 ล้านบาท ซึ่ง สบน.ได้มีการตั้งเบิกไปแล้ว 1,561 ล้านบาท

2.แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 565,000 ล้านบาท ซึ่งโอนมาจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 10,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติกรอบแล้ว 558,753 ล้านบาท โดยมีการตั้งเบิกแล้ว 322,819 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือ 210,200 ล้านบาท จะเป็นเรื่องของโครงการเราชนะ

3.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 390,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติกรอบ 133,159 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 48,998 ล้านบาท

นางแพตริเซียฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังเตรียมเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “เราชนะ” (We Win) ในปีงบประมาณ 2564 แบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก รุ่นเราชนะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาทจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1-19 ก.พ.2564 ส่วนชุดที่ 2 รุ่นเราชนะ วงเงิน 55,000 ล้านบาท เป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ผ่าน 4 ธนาคาร จำหน่ายตั้งแต่ 16-19 ก.พ.2564