จากที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งมีทั้งตัวนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ และรัฐมนตรีอีก 9 คน โดยซักฟอกลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม คาดหวังรวมทั้งเนื้อหาที่จะพูดกันในวันประชุมนั้น
สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 6.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 7.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 8.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 9. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ10.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
โดยญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นระบุพฤติการณ์รัฐมนตรี เช่น พล.อ.ประยุทธ์ บริหารล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ภาวะผู้นำ มีพฤติการณ์ฉ้อฉลทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ตนเองพวกพ้อง ใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่รอบคอบ สร้างความแตกแยก ใช้กฎหมายแสวงหาผลประโยชน์ ทำลายผู้เห็นต่าง ไม่ยึดมั่นศรัทธาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้สถาบันเป็นข้ออ้างแบ่งแยกประชาชนและแอบอ้างใช้เป็นเกราะปิดบังความล้มเหลวของตนเอง
ล่าสุดวันนี้ 26 มกราคม 2564 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ออกมากล่าวถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยหวังได้จัดเวลาการอภิปรายครั้งนี้ 5 วันแล้วลงมติ 1 วัน
ส่วนในเนื้อหาที่หลายพรรคอาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความล้มเหลว เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เป็นต้น ก็คุยกันว่าเรื่องเดียวกันแจะแบ่งเนื้อหาให้อภิปรายรับลูกรับช่วงกันอย่างไร อีกทั้งมีการประเมินสถานการณ์ในการประชุมด้วยว่าบรรยากาศในการประชุมจะเป็นอย่างไร จะมีการประท้วงมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่วิปรัฐบาลยืนยันให้เวลาอภิปรายเท่ากับการอภิปรายปี 2563 นั้น นายสุทิน กล่าวว่า ต้องพิจารณาดูว่าให้เวลาแค่นั้นเหมาะหรือไม่ เมื่อผู้อภิปรายมีจำนวนมาก ข้อหาเยอะ และรัฐบาลก็ทำงานมานาน ความผิดเยอะแล้วจะให้เวลาอภิปรายเท่าเดิม อธิบายได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเหตุและผล ในอดีตเคยอภิปรายกัน 7 วัน 7 คืน ซึ่งก็จะต้องมีการพูดคุยอีกครั้งหลังจากที่ประธานสภาฯ บรรจุวาระแล้ว
ทั้งนี้เมื่อถามว่า ในญัตติมีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลนำสถาบันมาสร้างความขัดแย้ง ฝ่ายค้านมีกรอบการอภิปรายอย่างไร เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว นายสุทิน กล่าวว่า ก็คิดกันอยู่ทุกคน ก็ตระหนักว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวและต้องพูดถึงเท่าที่จำเป็น และต้องใช้วุฒิภาวะขั้นสูงในการที่จะพูดเรื่องนี้ แต่จะไม่พูดเลยก็ไม่ได้ เพราะเป็นความเสียหายอยู่จริง
“ถ้ารัฐบาลทำความเสียหายให้กับสถาบันแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่มาก จะกระทบอะไรอีกมาก ถ้าเราไม่กระตุ้น เตือน กระตุก ติง หรือต้องคาดโทษกัน เกรงว่าเรื่องอย่างนี้จะกลายเป็นการชินชาที่จะปฏิบัติ ก็จำเป็นต้องพูด”
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเมื่อพูดเรื่องนี้ก็อาจจะถูกประท้วงมาก ซึ่งคนประท้วงก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคนพูด คนประท้วง ถ้าประท้วงไม่ดีก็จะกลายเป็นว่าตัวเองทำผิดเสียเอง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องใช้วุฒิภาวะขั้นสูงระมัดระวังที่สุด
ถามว่า เรื่องสถาบันสามารถนำมาอภิปรายได้ใช่หรือไม่ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า สามารถอภิปรายได้ แต่อยู่ที่ความเหมาะสม ซึ่งมีข้อบังคับว่าให้พูดเท่าที่จำเป็น และพูดอย่างไรให้เข้าใจกันโดยไม่เสียหาย และไม่กระทบข้อบังคับ บางครั้งคนเราไม่พูดตรงก็พอจะรู้เรื่อง
นอกจากนี้เมื่อถามว่า หลังการอภิปรายฝ่ายค้านจะไปยื่นถอดถอนรัฐมนตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย นายสุทิน กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องถ้ามีการทุจริต พบความกระทำผิด เรื่องไหนที่ต้องทำให้จบครบถ้วยกระบวนการก็ต้องทำ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกครหาว่าฝ่ายค้านทำไม่สุด
“ดังนั้น การดำเนินการกับผู้กระทบผิดก็ต้องทำทั้งในสภาฯ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจากหลักฐานแล้วมีรัฐมนตรีที่ต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน แต่จากนี้เป็นต้นไปจนถึงวันอภิปรายก็จะต้องสกรีนข้อมูลอีก”