วันที่ 23 ม.ค.2564 สื่อต่างประเทศรายงาน วุฒิสภาสหรัฐกำหนดวันที่จะให้มีการเริ่มต้นกระบวนการอภิปรายเพื่อถอดถอนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อกรณีเหตุม็อบสนับสนุนเขาบุกยึดอาคารรัฐสภาฯ ในวันที่ 8 ก.พ.นี้
นายชัค ชูเมอร์ ประธานวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากจากพรรคเดโมแครต ประกาศกำหนดการดังกล่าวหลังบรรลุข้อตกลงกับวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งพยายามผลักดัน ให้มีการเลื่อนการพิจารณาการถอดถอนออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัมป์ได้จัดตั้งทีมที่ปรึกษากฎหมาย และเตรียมข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาปลุกปั่นให้เกิดการจราจลขึ้นที่รัฐสภาในวันที่ 6 ม.ค. ส่งผลให้เกิดมีผู้เสียชีวิต 5 ราย และถูกจับ 52 คน
นอกจากนี้การกำหนดให้มีการเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนทรัมป์ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังทำให้วุฒิสภาสหรัฐมีเวลามากขึ้นสำหรับการให้การรับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมถึงพิจารณาข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของไบเดนอีกด้วย
และในวันเดียวกัน วุฒิสภาสหรัฐมีมติเห็นชอบให้พลเอกลอยด์ ออสติน นายพล 4 ดาวที่เกษียณอายุจากกองทัพสหรัฐ และอดีตผู้บัญชาการทหารสหรัฐในตะวันออกกลาง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยสภาคองเกรสได้ลงมติยกเว้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้พลเอกออสตินดำรงตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายสหรัฐระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมจะต้องว่างเว้นจากการดำรงตำแหน่งในกองทัพเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี
ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 69 ต่อ 27 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 326 ต่อ 78 ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี พลเอกออสตินวัย 67 ปีจะต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเต็มคณะ ซึ่งหากได้รับการยืนยัน พลเอกออสตินจะเป็นชาวผิวสีคนแรกที่ได้คุมกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ
ทั้งนี้ พลเอกออสตินเป็นนายพล 4 ดาวในกองทัพสหรัฐก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2559 โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสหรัฐในตะวันออกกลางในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นผู้บัญชาการอาวุโสในอิรัก และเป็นชาวผิวสีคนแรกที่รับตำแหน่งรองหัวหน้าผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับสองในกองทัพสหรัฐมาก่อน
ปัจจุบัน นายพลออสตินเป็นคณะกรรมการในบอร์ดบริหารของบริษัทเรย์เธียน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ รวมทั้งเป็นกรรมการในบริษัทนูคอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ และบริษัทเทเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในธุรกิจรักษาสุขภาพ
ท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์การระบาดโควิด-19 กลายพันธ์ุ ที่ทำให้สหรัฐยังวิกฤติป่วยและเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก ล่าสุด (23 ม.ค.2564)มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 25,390,042 ราย เสียชีวิต 424,177 ราย และความขัดแย้งที่เป็นชนวนสงครามนอกบ้าน อย่างคู่แข่งชิงอิทธิพลอำนาจอย่างจีน และคู่แค้นบัญชีหางว่าวอย่างอิหร่าน แต่ที่สำคัญคือความขัดแย้งภายในประเทศ ปัญหาการเหยียดผิวสี ปัญหาความคิดต่างสุดขั้วของคนอเมริกัน ทั้งการเมืองและการสาธารณสุข
การตั้งนายพลผิวสีคุมกำลังรบในเพนตากอน ดูเหมือนให้ความสำคัญและคาดหวังจะมาคลี่คลายปัญหาร้อนแรงภายในประเทศที่ถูกกลบไว้ชั่วคราว หรือจะยิ่งเป็นการตอกลิ่มความแตกแยกรอยร้าวลึกของคนอเมริกันผิวขาวที่ยังไม่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจยอมรับความแตกต่าง และความเสมอภาคที่แท้จริงอย่างที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อ สงครามภายในไม่อาจหลีกเลี่ยง จะเป็นโจทย์ท้าท้ายและยากยิ่งที่โจ ไบเดนจะต้องเผชิญ!