พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประเทศไทย ประจำวันที่ 20 ม.ค. 2564 ระบุ ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 59 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 51 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 28 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 23 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 8 ราย
ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 12,653 ราย หายป่วยสะสม 9,621 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 2,961 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย นอกจากนี้ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นหญิงไทย จ.ตาก อายุ 48 ปี อาชีพขับรถรับ-ส่งแรงงานเมียนมาข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่สอง อ.แม่สอด จ.ตาก โดยวันที่ 16-17 ธ.ค. 63 มีอาการ จากนั้นไปโรงพยาบาลแม่สอดวันที่ 22 ธ.ค.มีอาการคออักเสบ รักษาต่อเนื่องไม่หาย วันที่ 24 ธ.ค.จึงไปโรงพยาบาลอีกครั้ง และวันที่ 27 ธ.ค.ผลตรวจยืนยันเป็นโควิด-19 เราพยายามรักษา แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนอง กระทั่งเสียชีวิตวันที่ 18 ม.ค.64 ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 71 ราย ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 96,621,459 ราย เสียชีวิตสะสม 2,065,624 ราย
วันนี้เป็นวันที่สามของสัปดาห์ แม้ตัวเลขยังสูง แต่ทิศทางของกราฟยังคงต่ำลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ใน 62 จังหวัด ล่าสุดคือ จ.นครพนม เป็นผู้หญิงเดินทางจาก กทม.ไปเยี่ยมญาติ โดยไม่มีอาการ และไม่คิดว่าตัวเองติดเชื้อ และถ้าไปดูอาการของผู้ที่เข้ามารักษาด้วยตัวเองจะพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วย รวมถึงไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ จึงอยากให้ทุกคนเฝ้าระวังตัวเองกันให้มาก
ทั้งนี้ถ้าดูแผนที่การติดเชื้อของแต่ละจังหวัด จะพบว่ามีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อในช่วง 1-3 วันที่ผ่านมา 14 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา 7 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 5-6 วันที่ผ่านมา 4 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันในช่วง 7 วันที่ผ่านมา 37 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเลย 15 จังหวัด
ที่เราอยากให้ติดตามสถานการณ์ทุกวัน เพราะต้องการความร่วมมือ เมื่อเรารายงานไทม์ไลน์อย่างละเอียด ถ้ามีแอปพลิเคชั่นหมอชนะจะแจ้งเตือนทันที สิ่งสำคัญเมื่อได้รับการแจ้งเตือนว่าไปพื้นที่เสี่ยง มีโอกาสสัมผัสกลุ่มเสี่ยงก็ควรไปรายงานตัวเพื่อรับการตรวจทันที หากเราพบกลุ่มที่หนึ่งแล้วไม่เฝ้าระวังตัวหรือกักตัวก็จะไปติดคนอื่นจนมีกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการค้นหาเชิงรุกที่ จ.สมุทรสาคร ยังคงมีการทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในชุมชน ตลาด ร้านตัดผม ร้านนวดแผนไทย โดยการประสานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าเราไมได้ไปจับผิด แต่ต้องการไปดูแลให้ประชาชนปลอดภัย
สถานการณ์ปัจจุบันยังคงตัว แต่ยอมรับว่าจะทำให้ลงมาเป็นศูนย์ไม่ได้ หลายกิจการและกิจกรรมอาจท้อแท้ว่าสู้กันมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำได้ดีขอให้รักษาให้เข้มข้น เข้มงวด ป้องกันตัวเองสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการตามโรงงานต่างๆ เน้นย้ำให้คนของท่านดูแลตนเอง อย่ารับประทานอาหารร่วมกัน หลีกเลี่ยงการชุมนุมเป็นมาก ๆ มาตรการที่ออกมาจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ปฏิบัติตามให้เป็นประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดอยากให้กำลังใจ สูงสุดคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีทั้งปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล มีการผลัดเปลี่ยนเวรตลอด เพราะมีผู้ป่วยใหม่ตลอดเวลา และพวกเขาเองยังเป็นผู้ประสบเหตุด้วย ขณะที่อีกส่วนก็ต้องแบ่งทีมไปค้นหาเชิงรุกตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ทางด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่า ขณะนี้อาการของผู้ว่าฯกลับมาวิกฤติซ้ำอีกครั้ง ต้องติดตามอาการชั่วโมงต่อชั่วโมง เนื่องจากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอด และพบปัญหาการดื้อยาหลายชนิด ตอนนี้ได้มีการปรับยาปฏิชีวนะตัวใหม่ ที่คาดว่าจะให้ผลดี ไวกับเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ ซึ่งต้องรอดูอาการอีก 72 ชั่วโมง ว่าจะตอบสนองต่อยาหรือไม่
อย่างไรก็ตามมีการเฝ้าระวังอวัยวะภายในคู่ขนานด้วย ซึ่งตอนนี้ระบบการทำงานทุกอย่างปกติ โดยขณะนี้ได้ให้ยานอนหลับ เพื่อไม่ให้ผู้ว่ามีการต้านเครื่องช่วยหายใจ และได้รับระดับออกชิเจนอย่างเต็มที่ เพราะได้มีการกลับมาให้เครื่องช่วยหายใจทำงานอย่างเต็มที่
ส่วนการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ถือว่าได้ยุติลดลง หลังได้รับการรักษา และมีการตรวจไม่พบเชื้อถึง 2 ครั้ง แต่ผลกระทบจากโควิด ส่งผลต่อการทำงานของปอด และแบคทีเรียยังก็ทำลายเนื้อปอดได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามทางด้าน ศ.นพ. ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำคือการให้ยาปฏิชีวนะ และการนำเสมหะไปเพาะเชื้อ และการดูดเสมหะออกให้มากที่สุด เพื่อลดเชื้อในร่างกาย ส่วนเรื่องการทำงานของสมอง ยอมรับมีผลกระทบแน่นอนเพราะเดิมผู้ว่าฯมีอายุเยอะและมีโรคประจำตัวทางหลอดเลือดสมอง ในคนปกติหากต้องนอนโรงพยาบาลนาน สมองก็จะสั่งการช้าอยู่แล้วแต่เมื่อมีอาการทางสมองก็อาจจะช้ากว่าคนปกติ ศิริราช ไม่เคยบอกว่า สู้ไม่ไหว มีแต่ทำเต็มที่ แต่ไม่ใช่ทำทุกรายว่าจะชนะ แต่พยายามทำทุกอย่างเต็มที่