ในหลวง-พระราชินี โปรดเกล้าฯ พระราชทานรถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ อุปกรณ์การแพทย์แก่สธ. รับมือโควิด 19

2555

จากที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) และ ศบค. ยังมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิดภายในประเทศ 3 จุดสำคัญ คือ สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ และชายแดนใต้

ล่าสุด วันที่ 19 ม.ค. 2564 เวลา 13.19 น. ที่สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข

เข้ารับพระราชทานรถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยมีนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม เข้าร่วมในพิธี

ทั้งนี้ รถยนต์เอกซเรย์เคลื่อนที่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน เป็นรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์แบบดิจิทัลพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 คัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดสร้าง และอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทาน ประกอบด้วยชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว ชุด PPE แบบชุดหมีกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว และชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ จำนวน 3 รุ่น รวม 700,000 ตัว ในการนี้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 122 ล้านบาท ในการจัดหารถยนต์และอุปกรณ์ การแพทย์ดังกล่าว เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย เพิ่มเติมอีก 7 คัน จากที่ได้พระราชทานไปแล้ว 13 คัน รวมเป็น 20 คัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 26,916,131 บาท สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่าง

เพื่อหาเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยไม่ต้องเดินทางไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล ปัจจุบัน รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานได้มีบทบาทสำคัญในภารกิจตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ และสามารถเข้าไปทำงานในทุกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานทุกคน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการค้นหาผู้ติดเชื้อและดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งยังพระราชทานกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทาน

รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1 – 12 ทั่วประเทศ และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงสาธารณสุข ดูแลรับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก ในโรงเรียน วัด ชุมชนแออัดและกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จัดทำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ซึ่งอุปกรณ์ภายในรถมีประสิทธิภาพ ในการตรวจโรค และมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อ ระดับ 1000 ประกอบด้วยระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอก เพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา

รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอดมือผ่านหน้าต่างและถุงมือยางที่ติดตั้งไว้ มีระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถ หลังปฏิบัติงานรายวันด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ได้ทดลองให้บริการไปแล้วครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 12,094 ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมีความปลอดภัย ได้อย่างดียิ่ง