ย้อนรอย 2 คดีดังหมิ่น ผู้นำสหรัฐฯ โดนคุกนานนับเดือน “นิว ศิริชัย” โดนจับแล้วปล่อย ยังไม่พ้นข้ามวัน แกนนำทำกร่างด่ากราดตร.

2515

จากกรณีที่พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ได้นำตัวนายศิริชัย นาถึง หรือนิว อายุ 21 ปี นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล

โดยมีการแจ้งข้อหามาตรา 112 ต่อมา ศาลได้อ่านคำสั่งคำร้องขอฝากขังดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนผู้ร้อง ผู้ต้องหา และทนายความผู้ต้องหาฟังว่า พิเคราะห์คำร้องฝากขังและคำร้องคัดค้านการขอฝากขังผู้ต้องหาลงวันที่วันนี้แล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาคัดค้านคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการขอหมายขังผู้ต้องหา ภายหลังพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหามาจะครบ 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ตามคำร้องคัดค้านดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความใดที่เป็นการโต้แย้งคัดค้านการจับกุมตัวผู้ต้องหาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และการควบคุมตัวผู้ต้องหาขัดต่อกฎหมายอย่างไร

ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ให้การเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการฝากขังผู้ต้องหาคดีนี้ต่อศาลว่า จำเป็นต้องสอบสวนพยานอีก 8 ปาก รอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องฝากขังผู้ต้องหาไว้ต่อศาล ซึ่งพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องของฝากขังตามหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 จึงเห็นควรให้งดไต่สวน มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของผู้ต้องหาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามขอ

จากนั้น ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์ในสถาบันที่ผู้ต้องหาศึกษาอยู่เป็นผู้ประกัน หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน โดยห้ามผู้ต้องหากระทำการใดในทำนองเดียวกันซ้ำอีก

ล่าสุดมีรายงานว่า หลังศาลธัญบุรี ปล่อยตัว นิวมธ. หรือนายศิริชัย นาถึง ผู้ต้องหาคดี 112 ตร.สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ก็มาอายัดตัวไปสอบสวนเพิ่ม พร้อมระบุจะปล่อยตัวภายหลัง


ทั้งนี้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ได้เผยแพร่ข้อความที่เขียนโดยนายศิริชัย ระบุว่า การจับกุมและแจ้งข้อหาเขาครั้งนี้ ตำรวจได้แนบหลักฐานกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้พ่นสีบนรูปภาพ

“ถึงเพื่อน ๆ พ่อแม่พี่น้องผู้ฝันใฝ่ในประชาธิปไตย วันนี้ผมถูกจับกุมโดยหมายจับคดีมาตรา 112 โดยตำรวจแนบหลักฐานว่าไปพ่นสีบนรูปภาพของคน ผมจึงอยากเรียนพี่น้องให้ทราบว่าไม่ต้องเป็นห่วงผม สู้ต่อไป มันทำร้ายเราได้แค่นี้ และเวลาอยู่ข้างเราเสมอ ขอให้พี่น้องสู้ต่อไป เพื่ออุดมการณ์ผมแลกได้แม้ต้องแลกด้วยชีวิต สู้จนกว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้น”


อย่างไรก็ตามหากย้อนไปเปรียบเทียบกับ 2 คดีดัง บนดินแดนแห่งแม่แบบประชาธิปไตย อย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2554 เมื่อหนุ่มมะกันเขียนบทกวีข่มขู่ “โอบามา” เจอโทษคุก 33 เดือน และเด็กวัยรุ่นอังกฤษส่งอีเมล์ไปยังทำเนียบขาวตอนเมา เรียกประธานาธิบดีเป็นอวัยวะเพศชาย ถูกห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ตลอดชีวิต

โดยตอนนั้นศาลในเมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตักกี ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2553 ให้จำคุกนายจอห์นนี่ โลแกน สเปนเซอร์ ชาวเมืองหลุยส์วิลล์ วัย 28 ปี เป็นเวลา 33 เดือน ด้วยข้อหาข่มขู่นายบารัก โอบามา กรณีที่นายสเปนเซอร์ได้เขียนบทกวี 16 บรรทัด ซึ่งมีเนื้อหาบรรยายถึงการใช้ปืนสไนเปอร์ลอบยิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ขึ้นบนเว็บไซต์แห่งหนึ่ง

ซึ่งผู้พิพากษาโจเซฟ เอ็ช.แม็กคินลีย์ จูเนียร์ ได้ตัดสินว่าบทกวีของนายสเปนเซอร์ คือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง จึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 33 เดือน และจะถูกคุมประพฤติอีก 3 ปีหลังพ้นโทษจำคุกแล้ว

โดยบทกวีดังกล่าว ได้พรรณาว่ามือปืนได้สาดกระสุนปลิดชีวิต “ทรราช” ซึ่งต่อมาได้ระบุชัดเจนว่าเป็นประธานาธิบดี ทำให้เขาถูกตั้งข้อหาจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ว่า กระทำการข่มขู่ประธานาธิบดีและข่มขู่เอาชีวิตหรือทำร้ายร่างกาย ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งข้อหาข่มขู่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ถือเป็นข้อหาร้ายแรงมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับสูงสุด 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,500,000 บาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาท)

นอกจากกรณีจำคุกคนเขียนบทกวีแล้ว ยังมีกรณีที่วัยรุ่นชาวอังกฤษถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดชีวิต หลังจากเรียกนายโอบามาเป็นอวัยวะเพศชาย

ซึ่งสื่ออังกฤษได้รายงานเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ว่า นายลุก แองเจล อายุ 17 ปี ชาวเมืองซิลโซ ในเบดฟอร์ดเชียร์ ได้ส่งอีเมล์ไปยังทำเนียบขาว หลังจากที่เขาได้ดูรายการทีวีเกี่ยวกับเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 พร้อมกับเรียกนายโอบามาในอีเมล์นั้นว่า “a prick” ซึ่งเป็นศัพท์สแลงมีความหมายถึงอวัยวะเพศชาย

อีเมล์ดังกล่าวถูกสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ดักตรวจได้ จึงส่งข้อมูลให้ตำรวจอังกฤษทำการสืบสวนสอบสวนต่อและสามารถระบุตัวคนส่งอีเมล์ได้ แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับเด็กวัยรุ่นชาวอังกฤษคนนี้ แต่เขาก็ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทันที

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐอเมริกา พยายามแสดงความเห็นห่วง ต่อการดำเนินคดีผู้กระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในไทย ในทำนองที่ว่าเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐฯสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงออกในทุกประเทศทั่วโลก และถือว่าเสรีภาพนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ นั้น แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีกฎหมายที่เอาผิดกับคนที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่า คำว่า “ประชาธิปไตย” ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้น ได้ทำเกินขอบเขต และผิดตามมาตราม.112 อย่างชัดเจน และการถูกดำเนินคดีในประเทศไทย ก็ถือว่ายังมีอ่อนข้อให้อย่างมาก เพราะจับกุมตัวเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีการปล่อยตัว แต่พวกแกนนำราษฎร กลับบิดเบือนเกินจริงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ บ้างก็ว่าใช้ความรุนแรง แต่หากย้อนดูคดีในสหรัฐฯที่กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้จะเป็นดินแดนที่เคร่งครัดในคำว่าประชาธิปไตยอย่างมาก มีเสรีภาพไม่ปิดกั้น ก็ยังมีบทลงโทษที่หนักแน่นกว่าประเทศไทยแบบเทียบไม่ได้