“ก้าวไกล” เผยธาตุแท้แล้ว ไม่แก้แค่ ม.112 แต่เตรียมยื่นแก้ความผิดเกี่ยวกับ การหมิ่นประมาททั้งหมด หวังช่วยยกม็อบ!!

2479

จากกรณี ที่นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีตำรวจนำกำลังเข้าจับกุม นายสิริชัย นาถึง หรือนิว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ของวานนี้ (13 ม.ค.) จากข้อหาตามมาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า เขากระทำความผิดจากการพ่นข้อความ “ยกเลิกมาตรา 112” และ “ภาษีกู” ว่า ตนเห็นว่านี่เป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จนกลายเป็นเครื่องมือในการปราบปรามทางการเมือง ซึ่งในกรณีของนิว เจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องออกหมายจับก่อนออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนปกติ

นอกจากนี้ ยังเป็นการบุกจับกุมในยามวิกาล ละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ให้ติดต่อทนายความ และมีการบุกค้นสถานที่พักก่อนแสดงหมายค้น และกรณีดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ รวมทั้งมาตรา 112 ต่อนักเรียน นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง เพื่อให้บ้านเมืองสงบ ส่งผลให้ถึงขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้ว 40 รายใน 28 คดี โดยผู้ถูกดำเนินคดีที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 16 ปี

“พรรคก้าวไกลยืนยันว่า นโยบายเช่นนี้ของรัฐบาล ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการรับมือต่อการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา ที่มีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะนอกจากจะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองได้แล้ว การบังคับใช้มาตรา 112 ในสถานการณ์ปัจจุบันจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนแย่ลงในสังคมประชาธิปไตย ผมหวังว่านิวจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ เพื่อสามารถออกมาใช้สิทธิในการต่อสู้คดีและขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้มาตรา 112 รวมทั้งกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ เป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมืองและละเมิดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เมื่อสภาเปิดประชุมอีกครั้ง พรรคก้าวไกลจะยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา 112, ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560, และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองและประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“[ยกเลิก 112]
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ในแง่ความไม่ได้สัดส่วนของอัตราโทษ ในแง่การนำมาใช้และตีความ ในแง่ของอุดมการณ์ที่กำกับอยู่เบื้องหลัง ดังที่ผมเคยแสดงความเห็นไว้ในหลายโอกาส
ปัจจุบัน สถานการณ์การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีทีท่าจะแรงต่อเนื่องไปอีก
ผมจึงมีความเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งเป็น “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยเร็วที่สุด

ในการณ์นี้ อาจใช้โอกาสยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ทั้งระบบไปในคราวเดียวกัน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประมุขรัฐต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ศาล เจ้าพนักงาน ไปจนถึงบุคคลธรรมดา ให้ไปว่ากล่าวกันทางแพ่ง และควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททางแพ่ง ให้มีเหตุยกเว้นความผิดในกรณีวิจารณ์โดยสุจริต เป็นประโยชน์สาธารณะ ด้วย
การยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับหลักสากล และนานาอารยประเทศ ในศตวรรษที่ 21 ไม่ควรมีใครถูกจำคุกเพียงเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ”

“เราปล่อยให้ “อนาคตของชาติ” โดนตั้งข้อหา ดำเนินคดีแบบนี้ต่อไปไม่ได้ พวกเขาเสียสละเสรีภาพ และอาจรวมถึงร่างกาย ชีวิตด้วย เพื่อการต่อสู้ เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้ว สิ่งที่เสียไปน้อยกว่าพวกเขามาก ต้องไม่ลืมว่า เงินเดือน ตำแหน่ง คะแนนเสียงจำนวนมาก ของ ส.ส.หลายคน ก็มาจากพวกเขา ดังนั้น การแสดงความกล้าหาญ ต่อสู้เพื่อพวกเขา เพื่ออนาคตของชาติ เพื่อประเทศไทย ด้วยการผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่ง”

นอกจากนี้ นายปิยุบุตร ยังเคยพูดถึงประเด็นการยกเลิก ม.112 อย่างไรก็ตามเนื้อหาได้มีบางส่วนพูดถึงการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพูดคุยและข้อกฎหมายมาตรา 112 โดยนายปิยบุตรได้เสนอว่าควรมีการปรับแก้ไขกฎหมายข้อดังกล่าวจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายแพ่ง และมีโทษเป็นปรับก็เพียงพอแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือกฎหมายมาตรา112 นั้นอยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้ และมีโทษที่สูงมากจนเกินไป

” ขณะเรื่องกฎหมายอาญา ม.112 ส่วนตัวยังยืนยันว่า เห็นควรต้องเอาออก จากโทษทางอาญาทั้งหมด เหลือเป็นโทษทางแพ่ง ปรับเงินก็พอ ไม่มีโทษทางอาญา แล้วเรื่อง ม.112 พอระบุว่าเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องความมั่นคงประเทศ จำเลย ก็จะไม่ได้รับการประกันตัว แล้วโทษอาญาจำคุก หนักมาก 3-15 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 แล้วทั้งสิ้น 35 ราย ในกว่า 20 คดี นับตั้งแต่การประกาศรายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 โดยสถิตินี้นับคดีที่ผู้ได้รับหมายเรียกไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย รวมถึง คดีล่าสุดของ นายสิริชัย นาถึง หรือนิว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์