อ.ไชยันต์ เปิดความจริง พระมหากษัตริย์ ถูกสั่งห้ามในการลงมือพัฒนาชนบท หรือชุมนุม

2566

ทำก็ผิด ไม่ทำก็ผิด!! อ.ชัยยันต์ เปิดความจริง พระมหากษัตริย์ ถูกสั่งห้ามในการลงมือพัฒนาชนบท หรือชุมนุม

จากกรณีที่ พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง ได้เดินทางไปที่ หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและเด็กๆ ซึ่ง พิมรี่พาย ก็ได้ทุ่มเงินของตัวเองกว่า 5 แสนบาท ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาส

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง และถูกกลุ่มม็อบสามนิ้วนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง เอาไปเชื่อมโยงเป็นเครื่องมือเพื่อทิ่มแทงและโจมตีสถาบัน อย่างไร้เหตุผล แต่กลุ่มผู้สนับสนุนการชุมนนุมก็หลงเชื่อ ในข้อความที่บิดเบือนเพียงตัวอักษรไม่กี่บรรทัด

ล่าสุดทางด้านของ ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงประเด็นที่หลายๆคนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะทางม็อบสามนิ้ว เริ่มนำโครงการหลวง รวมถึงพระราชดำรัส มาบิดเบือนและโยงไปโจมตีสถาบันฯ แบบไม่มีมูลหรือหลักฐานใดๆ ในหัวเรื่องว่า “ทำก็ผิด-ไม่ทำก็ผิด” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ถ้านับจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution) ปี ค.ศ. 1688 จนถึงปีนี้ อังกฤษมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) มาเป็นเวลาถึง ๓๓๓ ปีแล้ว ส่วนระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยเรามีอายุได้เพียง ๘๘ ปีเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบระบอบการเมืองการปกครองของไทยกับของอังกฤษ ก็คงต้องย้อนไปดูการเมืองอังกฤษในช่วง ๑๐๐ ปีแรกหลังจากที่อังกฤษเข้าสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ถ้าใครเอาระบอบของไทยไปเทียบกับการเมืองปัจจุบันของอังกฤษหรือประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ใช้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดหลักวิชาการอย่างยิ่ง เพราะประเทศเหล่านั้นใช้เวลานานพอสมควรกว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเขาจะลงตัวและมีเสถียรภาพมั่นคง

อย่างกรณีของหนังสือ Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand, edited by Soren Ivarsson and Lotte Isager, (2010) บางตอนของบทนำของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลย (unthinkable) ที่กษัตริย์ของเดนมาร์กจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการพัฒนาชนบท (rural development) เหมือนอย่างที่กษัตริย์ไทย (King Bhumibol) ทำ !

เข้าใจว่า ผู้เขียนต้องการจะสื่อว่า การที่กษัตริย์ไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชนบทส่งผลให้กษัตริย์มีอำนาจบารมีมากและส่งผลต่อเรื่องการเมืองในเวลาต่อมา ดังนั้น กษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทุกประเทศจึงไม่ควรยุ่งเรื่องการพัฒนาประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ควรห้ามไม่ให้กษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการพัฒนา เพราะจะทำให้มีอำนาจบารมีมาก

น่าคิดว่า ในช่วงหนึ่งร้อยปีแรกของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆในยุโรปมีบทบาทอย่างไร ? ผู้เขียนบทนำดังกล่าวน่าจะเปรียบเทียบในช่วงเวลาหนึ่งร้อยปีแรกของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์กมากกว่าจะเทียบกับเดนมาร์กในปัจจุบัน

และก็น่าสนใจอีกด้วยว่า ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงดูแลการพัฒนาชนบทตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมานั้น ไม่มีนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่ไหนออกมาวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับบทบาทของพระองค์

ที่สำคัญคือ ไม่มีคอมมิวนิสต์หรือมาร์กซิสต์ไทยในช่วงนั้นออกมาวิจารณ์ไม่เห็นด้วยเช่นกัน
ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมากลับมีนักวิชาการรวมทั้งผู้คนจำนวนหนึ่งออกมาวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับบทบาทในการพัฒนาชนบทของพระองค์ในอดีตย้อนหลังไปหลายทศวรรษ

ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ จัดว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนา ส่วนเดนมาร์กไม่เคยเป็นประเทศด้อยพัฒนา เพราะประเทศแถบยุโรปเหนือรวมทั้งอังกฤษล้วนแต่เป็นประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ทั้งสิ้น บริบททางเศรษฐกิจสังคมจึงแตกต่างจากของไทยมาก

คำถามที่ตามมาก็คือ การที่ในหลวงพัฒนาชนบทไทยในอดีตนั้นถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรสำหรับประเทศอย่างไทยเราหรือ ?
หรือแม้กระทั่งการแนะนำแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ?

และถ้าผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนาไม่ทรงทำอะไรเลย ถือเป็นบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ ?
ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกวิจารณ์อีกกระมัง ?
พูดง่ายๆก็คือ ทำหรือไม่ทำก็ผิดทั้งนั้น ?!!