ดร.ไชยณรงค์ 1 ใน อาจารย์หนุนม็อบมธ.10ส.ค. ฉะมติชนตัดต่อข้อความ-บิดเบือนชีวิตคนบนดอย

2257

เรียกได้ว่า กลายเป็น Talk of the town ตลอดต่อเนื่อง จากกรณี “พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์” หรือ “พิมรี่พาย” ยูทูบเบอร์-แม่ค้าออนไลน์ โพสต์คลิปยูทูปเดินทางเข้าไปยัง หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีการนำเสนอความขาดแคลนในแง่มุมต่าง ๆ

กระทั่งตัดสินใจแสดงเจตจำนงค์จะขอเป็นผู้รับผิดชอบเงินงบประมาณกว่า 5.5 แสนบาท เพื่อจัดทำคโซลาร์เซลล์ โทรทัศน์ และแปลงผัก รวมถึงของอุปโภคบริโภคอีกหลายสิ่งอย่าง เหตุเพราะจิตอันเป็นกุศลดังกล่าวนี้ ถูกนำไปขยายผลทางการเมือง ทั้งการบิดเบือน โจมตี ใส่ร้ายสถาบันเบื้องสูง และการดิสเครดิตรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อมากลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กรณีเมื่อเพจเฟซบุ๊ก “ซึ่งต้องพิสูจน์” ได้โพสต์ข้อความว่า “ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ” อาจารย์ มมส. ชี้เเจง ถูก “FB มติชนออนไลน์” ตัดต่อข้อความ #ผิดไปจากที่ตนเองต้องการสื่อ

ทางเพจซึ่งต้องพิสูจน์ ได้มีการแชร์ข้อความที่ทางด้าน ทวิตเตอร์บัญชี Chainarong S ของ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ทวีตข้อความว่า เพจมติชน ออนไลน์ เอาข้อเขียนของผมไปลงโดยไม่ได้ขออนุญาต ผมไม่ว่าเพราะถือว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ได้ตัดต่อข้อความที่ผิดไปจากที่ผมต้องการสื่อเอาไปประกอบรูปที่แคปจากไหนมาก็ไม่รู้ที่ดูแย่ ๆ ขณะที่คนอ่านส่วนมากก็อ่านแต่ข้อความบนรูป จากนั้นด่าผมเสีย ๆ หาย ๆ ผมขอให้มติชนรับผิดชอบด้วย

เมื่อตรวจสอบไปยัง ทวิตเตอร์บัญชี Chainarong S ยังพบข้อความอีกว่า ล่าสุด เพจ มติชนออนไลน์ลบสเตตัสที่บิดเบือนข้อความผมไปแล้ว ระหว่างที่ผมโทรคุยกับ กอง บก. แต่ผมยังไม่ได้รับการติดต่อจากแอดมิน #มติชน

โดยข้อความที่ทางเพจมติชนลงไว้นั้นมีอยู่ว่า “อาจารย์ดัง ไขทุกปม ชีวิตคนบนดอย ย้ำไม่ติดใจการช่วยเหลือ แต่อย่าเอาทรรศนะคนนอกไปตัดสิน “ถ้าไฟฟ้าเข้าจำทำให้เป็นหนี้เยอะ เขายอมให้ไฟฟ้าเข้า แต่ก็ใช้กันเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ต้องเสียค่าไฟมาก จะหุงข้าว ทำอาหาร ก็มีเชื้อเพลิงอย่างอื่นที่ได้มาฟรี ๆ””

ทั้งนี้ สำหรับข้อความที่ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเขาว่า ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่การปลูกพืชผักเป็นลักษณะไร่หมุนเวียน รวมทั้งสามารถหาแหล่งอาหารจากป่าได้

การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน ส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ แม้กระทั่งการมีเสาไฟฟ้า รวมถึงการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรในป่า ซึ่งควรเรียกร้องให้รัฐยกเลิกเงื่อนไขที่จำกัดการพัฒนาเหล่านี้ ส่วนปัญหาด้านการศึกษาของเด็ก ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า ด้วยระยะทางที่ห่างไกล ทำให้ขาดแคลนครู และการให้เด็กไปเรียนนอกพื้นที่ด้วยหลักสูตรของรัฐ ก็ทำให้เด็กประสบปัญหาเรื่องการปรับตัวเช่นกัน ดังนั้น จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้วิถีชีวิตที่มีครูที่เป็นผู้รู้ในชุมชนเป็นผู้สอน และโทรทัศน์ไม่ใช่คำตอบในการเรียนรู้โลกกว้าง

ตนไม่มีปัญหากับการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ เพียงแต่แนะนำว่าควรเรียนรู้ทัศนะของคนในพื้นที่ก่อน และอย่าผลิตซ้ำการเหยียดบนทัศนะของการแบ่งพวกเขา-พวกเรา

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็น 1 ในอาจารย์ ที่ลงชื่อสนับสนุน การชุมนุมของกลุ่ม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อ 10 ส.ค. 2563

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2563 มีรายงานว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศร่วมกันเข้าชื่อ สนับสนุนการจัดเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน รวมถึงการปราศรัย ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

แถลงการณ์ ระบุว่า การปราศรัยดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริต และเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ดังบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2563 มาตรา 34 ระบุว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”