นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ปลัดกระทรวง และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ด้านการบริหารจัดการวัคซีน การสร้างการรับรู้ การให้บริการวัคซีน การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต การรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อ ความเสี่ยงผู้สัมผัส โดยวัคซีนที่จัดหามานั้น ได้มาตรฐาน คุณภาพ และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อย
ในช่วงแรกที่วัคซีนจำกัด เป้าหมายคือการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน
3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด
เริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจะฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย
ส่วนทางด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าได้กำหนดการรณรงค์ให้บริการวัคซีน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์- พฤศจิกายน 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสื่อสารประชาชน ให้มีความรู้ทั้งผลดีและข้อความระวัง และประสานโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนร่วมให้บริการ
นอกจากนี้ได้ให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทุกแห่ง สำรวจกลุ่มเป้าหมายล่วงหน้า เตรียมจัดบริการรองรับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จัดทีมบริการเคลื่อนที่ และเตรียมความพร้อมเรื่องระบบลูกโซ่ความเย็น โดยจะมีระบบการเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน และติดตามประเมินผลการให้บริการเป็นรายเขต จังหวัด อำเภอ และพื้นที่
ทั้งนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารุนแรงใหม่อีกครั้งนั้น จนส่งผลกระทบทำให้ผู้บริจาคโลหิตลดลงอย่างมาก ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงวอนให้คนไทยที่สุขภาพดี ช่วยกันบริจาคโลหิตอย่างเร่งด่วน
โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ระลอก 2 ขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หลายแห่ง ที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็ก โรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง มีความต้องการเลือดสูงมาก แต่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
ไม่สามารถจ่ายเลือดให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากผู้บริจาคโลหิตมีจำนวนลดลงทุกแห่งทั่วประเทศ หน่วยงานยกเลิกการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดและสถาบันการศึกษาปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ส่งผลให้มีปริมาณโลหิตบริจาควันละ 700 – 900 ยูนิต เท่านั้น ลดลงมากถึงร้อยละ 50
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2512 มีการประกาศขาดเลือดบ่อย ๆ แต่ครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ที่วิกฤตมากอีกครั้งหนึ่ง เพราะโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ประกาศขาดเลือดพร้อม ๆ กัน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้
อีกทั้ง เพื่อให้งานบริการโลหิตของประเทศไทย เป็นไปอย่างเพียงพอและปลอดภัย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้มีมาตรการและแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริจาคโลหิต ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ทั่วประเทศ 12 แห่ง และหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ทุกแห่ง ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ยังคงรักษามาตรการสร้างความมั่นใจให้เป็นสถานที่ปลอดภัยจาก COVID-19 มีการควบคุม ดูแล รักษาความสะอาด อุปกรณ์ สถานที่ และสุขอนามัยของผู้มาบริจาคโลหิต และบุคลากรที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกหน่วยงานไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในฐานะที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ทำหน้าที่ในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด จากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ และโลหิตยังคงเป็นยารักษาโรคที่สำคัญ ซึ่งต้องได้มาจากการบริจาคเท่านั้น
ในส่วนของความคืบหน้า อาการป่วยโควิด-19 ของผู้ว่าฯสมุทรสาครนั้น ทางด้านศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เปิดเผยถึงอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมีอาการดีขึ้นมาก ทีมแพทย์ได้ลดการให้ยาที่ทำให้หลับและยาคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เมื่อตื่นมีภาวะต่อต้านเครื่องช่วยหายใจ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ จากเดิมที่เครื่องช่วยหายใจจะควบคุมระบบการหายใจ 100% ตอนนี้ ก็ค่อย ๆ ถอยออกมาเพื่อให้ท่านผู้ว่าฯ เป็นผู้ควบคุมระบบการหายใจของตัวเอง ซึ่งก็พบว่าอัตราออกซิเจนในเลือดดี การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ได้ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง เนื่องจากท่านผู้ว่าเป็นผู้สูงอายุ จึงทำให้การฟื้นตัวอาจจะช้าไปกว่าคนหนุ่มสาวบ้าง แต่ก็ไม่ได้ช้ามาก ราว 1-2 วัน